วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สิ่งแวดล้อม

1. ความหมายของสิ่งแวดล้อม
 
   ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535   ได้ให้ความหมายของ "สิ่งแวดล้อม" ไว้ดังนี้
    สิ่งแวดล้อม   หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น
    ในทางวิชาการ สิ่งแวดล้อม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ล้อมรอบตัวมนุษย์ มีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต     ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม   มีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายปัจจัยอื่นอย่างหลีกเลี่ยง มิได้  เป็นวงจรหรือวัฏจักรที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งระบบ
2. ประเภทของสิ่งแวดล้อม
   จากความหมายของสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไว้ข้างต้น เราสามารถจำแนกประเภทของสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท โดยพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสิ่งแวดล้อม ได้แก่
   
    2.1 สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (natural environment)  สิ่งแวดล้อมประเภทนี้  ย่อมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ     สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป   ที่กล่าวกันว่าเป็นความหลากหลายในธรรมชาติ   บางชนิดใช้เวลาในการเกิดยาวนานมาก บางชนิดใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเกิด  สิ่งแวดล้อมชนิดหนึ่งๆ  ย่อมมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมชนิดอื่นๆ  ถ้ามีการทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งย่อมมีผลถึงสิ่งแวดล้อมอื่น     สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ    สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ  โดยพิจารณาจากการมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต
         2.1.1 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (biotic  environment)  เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเกิด เป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้   แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สูญสิ้นไปได้ หากมนุษย์เราทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ได้แก่ป่าไม้ สัตว์ป่า ทุ่งหญ้า สัตว์น้ำ เป็นต้น
         2.1.2 สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (abiotic  environment)      เป็นสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา บางชนิดใช้ระยะเวลาในการเกิดยาวนานมาก นานจนมนุษย์ไม่สามารถรอใช้ประโยชน์ได้ และสามารถสูญสิ้นไปได้ หากมนุษย์ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ได้แก่ แร่ธาตุ แร่เชื้อเพลิง บางชนิดเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏให้มนุษย์ได้เห็น ได้รู้สึก ได้สัมผัส อย่างมากมายเหลือเฟือ ไม่มีวันสูญสิ้นไปจากโลก ได้แก่ ดิน หิน น้ำ อากาศ ความร้อน แสงสว่าง เสียง เป็นต้น
     
    2.2 สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made  environment)   สิ่งแวดล้อมประเภทนี้มนุษย์อาจสร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ มีทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ และสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้หรือไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเองหรืออาจ สร้างขึ้นด้วยเหตุจำเป็นบางประการ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีทั้งสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรง ชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบาย  ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่ไม่ดีที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เลวลง ทำให้มนุษย์ได้รับความเดือดร้อน ต้องสูญเสียชีวิตหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สุขภาพจิตเสื่อมโทรมลง    สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น  สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ   โดยพิจารณาจากความเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมของสิ่งนั้นๆ 
            2.2.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical  environment)    เป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นได้ จับต้องได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการมีชีวิตอยู่  บางสิ่งที่มนุษย์สร้างก็เป็นไปเพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของการดำรง ชีวิต ได้แก่  ปัจจัยสี่ อันหมายถึง  อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  แต่บางสิ่งก็สร้างเพื่อสนองความต้องการอันไร้ขอบเขตของตนเอง     ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างที่เกินความจำเป็น อันจะนำความเสียหายมาสู่สิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์เองได้เมื่อถึงระดับ หนึ่ง      สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีทั้งสิ่งที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ เช่น บ้านเรือน เสื้อผ้า รถยนต์ ถนน เครื่องมือทางการแพทย์ โทรศัพท์ เป็นต้น และสิ่งที่ไม่ดี ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง  เช่น น้ำเน่าเสีย  สารพิษที่ใช้ในการเกษตร สารพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
          2.2.2 สิ่งแวดล้อมทางสังคม (social  environment)   เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นนามธรรม มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่นกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นต้น บางสิ่งอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม เป็นต้น บางสิ่งอาจสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมความเจริญให้เกิดขึ้นแก่หมู่มวลมนุษย์ เช่น การศึกษา การวิจัย เป็นต้น บางสิ่งสร้างขึ้นโดยพฤติกรรม การแสดงออกทั้งในลักษณะที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การทะเลาะวิวาท การช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน การติดยาหรือสารเสพย์ติด เป็นต้น



ภาพที่ 1.4  ประเภทของสิ่งแวดล้อม 

3. สมบัติของสิ่งแวดล้อม
   สิ่งแวดล้อมย่อมมีสมบัติเฉพาะตัว การแสดงสมบัติของสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นการแสดงออกของบทบาท/หน้าที่ของสิ่งแวดล้อมนั้น การเข้าใจสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องสมบัติของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ดังรายละเอียดต่อไปนี้
            1) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่ง แวดล้อมจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านโครงสร้างหรือองค์ประกอบ เช่นรูปทรง ขนาด สี หรือกระบวนการที่สร้างสิ่งแวดล้อมนั้น เอกลักษณ์ที่แสดงออกมานั้น สามารถบ่งบอกได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอะไร เช่นป่าชายเลน ป่าสน ป่าดงดิบ ภูเขา บ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ประเพณี ศาสนา พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น
            2) สิ่งแวดล้อมนั้นจะไม่อยู่โดดเดี่ยวในธรรมชาติ โดยธรรมชาติแล้ว จะไม่มีสิ่งแวดล้อมใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีสิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ด้วยเสมอ เช่น สัตว์น้ำกับทะเล มนุษย์กับบ้านเรือน สัตว์ป่ากับป่าเบญจพรรณ สัตว์น้ำวัยอ่อนกับป่าชายเลน ถนนกับรถยนต์ เป็นต้น
            3) สิ่งแวดล้อมทั้งหลายมักมีความเกี่ยวเนื่องและมีความสัมพันธ์ต่อกัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมไม่อยู่โดดเดี่ยว จึงต้องมีความเกี่ยวเนื่องและมีความสัมพันธ์ต่อกัน เช่นป่าไม้ต้องการธาตุอาหารในดินเพื่อการเจริญเติบโต สัตว์ป่าต้องการป่าไม้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากิน มนุษย์ต้องการน้ำไว้เพื่อการใช้สอยและดื่มกิน การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ ย่อมส่งผลกระทบถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ การทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพของน้ำ เป็นต้น
            4) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีความทนทานและความเปราะบางต่อการถูกกระทำในระดับที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่ควบคุมความทนทานหรือความเปราะบางของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คุณลักษณะเฉพาะตัว แหล่งกำเนิด ขนาด รูปทรง สี อายุ ความสามารถในการป้องกันตนเอง ฯลฯ ปัจจัยควบคุมเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายแตกต่างกัน ออกไป สิ่งแวดล้อมที่มีความทนทานสูงย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายได้ยาก สิ่งแวดล้อมที่มีความเปราะบางย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายได้ง่าย เช่นสัตว์บางชนิดมีลักษณะที่สวยงาม มีความสามารถในการป้องกันตัวเองน้อย และอาศัยอยู่ในบริเวณที่ง่ายแก่การล่า ก็อาจสูญพันธุ์ได้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่กระทำการ ใดๆ มิฉะนั้นโลกของเราอาจจะต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างไปอย่างน่าเสียดาย
            5) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงได้             ทั้งในด้านปริมาณและ            คุณลักษณะ   สิ่ง แวดล้อมโดยทั่วไปจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ทั้งในด้านปริมาณและคุณลักษณะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออย่างรวดเร็วก็ได้ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมนั้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นมนุษย์ สัตว์ และพืช ย่อมเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ไปตามธรรมชาติ น้ำและอากาศอาจมีสภาพเสื่อมโทรมลงจากการกระทำของมนุษย์ สัตว์ป่าเหลือน้อยลงเนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย บ้านเรือนพังทลายเพราะพายุที่พัดผ่านอย่างรุนแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น