วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

1.1 ระบบนิเวศ

ระบบนิเวศ (Ecosystem)
สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น บางบริเวณมีแม่น้ำ ลำธาร คลอง ชายทะเล ป่าชายเลน และที่ราบ เป็นต้น มักพบสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดอาศัย อยู่ร่วมกัน ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เรียกว่า กลุ่มสิ่งมีชีวิต (Community)
ระบบนิเวศ (Ecosystem) หมายถึง กลุ่มสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ใน บริเวณเดียวกัน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งมีชีวิต และแหล่งที่อยู่อาศัย ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจัดเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ เรียกว่า โลกของสิ่งมีชีวิต

ความสัมพันธ์ทั้งสองลักษณะจะเกิดขึ้น พร้อมกัน ใน ทุก ๆ ระบบนิเวศ นั่นคือความสัมพันธ์ ที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดดำรง ชีวิตอยู่รอดได้ 

สิ่งมีชีวิต และ สิ่งไม่มีชีวิตในโลก เริ่มต้นมาจากสารที่เล็กที่สุด คือ อะตอม(atom) หลาย ๆ อะตอม ทำปฏิกิริยาเคมีกัน หรือมีแรง ยึด ระหว่างอะตอม กลายเป็น โมเลกุล(molecule) โมเลกุลของสาร ต่างๆ รวมกันเป็นสารชีวโมเลกุลเซลล์ หรือ ออร์แกเนลล์(organelle) ออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ร่วมกันทำงาน และประกอบกันเป็น เซลล์(cell) 
ในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาจ มีเพียงเซลล์เดียว ส่วนสิ่งมีชีวิตที่มี มากกว่า เซลล์เดียวนั้น เซลล์ชนิดเดียวกันหลาย ๆ เซลล์ ทำหน้าที่ ร่วมกันเรียกว่า เนื้อเยื่อ(tissue) เช่น เนื้อเยื่อกระดูก เนื้อเยื่อหลายชนิดร่วมกันทำหน้าที่ กลายเป็น อวัยวะ(organ) เช่น กระดูก อวัยวะชนิดเดียวกัน หลายๆ อัน ร่วมกันทำหน้าที่ เรี่ยกว่า ระบบอวัยวะ เช่น ระบบโครงกระดูก หลายๆ ระบบร่วมกันทำงาน กลายเป็น สิ่งมีชีวิต(organism) เช่น แมว สุนัข วัว ควาย ไก่ เก้ง ปู
สิ่งมีชีวิต ชนิดเดียวกันอยู่ร่วมกันกลายเป็น ครอบครัว (family) หลาย ๆ ครอบครัวอยู่รวมกันในบริเวณ หนึ่ง กลายเป็น ประชากร(population) การดำรงชีวิของสิ่งมีชีวิต การดำรงชีวิตชนิดเดียวกัน จะต้อง มีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น ต้องมีอาหาร มีที่อยู่อาศัย เป็นต้น
จึงต้องเกิด กลุ่มสิ่งมีชีวิต(community) ขึ้นเมื่อรวมกลุ่มสิ่งมีชีวิต กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิตในบริเวณนั้น เข้าด้วยกันหลายเป็น ระบบนิเวศ (ecosystem)

1.2 การถ่ายทอดพลังงาน

ห่วงโซ่อาหาร (food chain)
พืชและสัตว์จำเป็นต้องได้รับพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต  โดยพืชจะได้รับพลังงานจากแสง
ของดวงอาทิตย์  โดยใช้รงควัตถุสีเขียวที่เรียกว่า  คลอโรฟิลล์  (chlorophyll)  เป็นตัวดูดกลืนพลังงาน แสงเพื่อนำมาใช้ ในการสร้างอาหาร  เช่น  กลูโคส  แป้ง  ไขมัน  โปรตีน  เป็นต้น

        พืชจึงเป็นผู้ผลิต (producer)  และเป็นสิ่งมีชีวิตอันดับแรกในการถ่ายทอดพลังงาน
แบบห่วงโซ่อาหาร สำหรับสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต ที่ไม่สามารถสร้าง อาหารเองได้  จำเป็นต้องได้รับพลังงาน จากการบริโภค สิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร สัตว์จึงถือว่าเป็น ผู้บริโภค (consumer)  ซึ่งแบ่งออกได้เป็นต้น
  • ผู้บริโภคลำดับที่หนึ่ง (primary  consumer)  หมายถึง  สัตว์ที่กินผู้ผลิต
  • ผู้บริโภคลำดับที่สอง  (secondary  consumer )  หมายถึง  สัตว์ที่กินผู้บริโภคลำดับที่หนึ่ง
  • ผู้บริโภคลำดับสูงสุด  (top  consumer)  หมายถึง  สัตว์ที่อยู่ปรายสุดของห่วงโซ่อาหาร
    ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตใด มากินต่อ  อาจเรียกว่า  ผู้บริโภคลำดับสุดท้าย




1.3 วัฏจักรของสาร

      วัฏจักรของสาร (Biogeochemical cycle) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของสารหนึงไปอีกสารหนึ่ง โดยการ เปลี่ยนแปลง ของสารจากสารหนึ่ง ไปยังอีกสารหนึ่ง โดยการเปลี่ยนตำแหน่งจากแหล่งหนึ่งไปยัง อีกแหล่ง หนึ่งหรือจากสิ่งมีชีวิตชนิดชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่ง แต่ในที่สุดจะหมุนเวียนกลับไปยัง สภาพเดิมอีก เช่น ออกซิเจนมีอยู่ตามแหล่งต่างๆ ทั่วไป
ออกซิเจนมีการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรโดยเริ่มจากพืชสร้างออกซิเจน โดยใช้พลังงานแสงและ คลอโรฟิลล์เช่นเดียวกับสาหร่ายและแพลงก์ตอนพืช จะได้สารอินทรีย์ซึ่งเป็นสารอาหารอาหาร จากการสังเคราะห์ด้วยแสง จากนั้นสาหร่ายและสัตว์ต่างมีการถ่ายทอดอาหารและ พลังงานในรูปของห่วงโซ่อาหาร สัตว์ และพืช เมื่อหายใจออกจะปล่อยคาร์บอนออกมาในรูปของสาร ประกอบคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสาหร่ายและแพลงก์ตอนพืช นำไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงอีกครั้ง
วัฏจักรของสารหรือการหมุนเวียนของสาร เป็นการหมุนเวียนจากสิ่งไม่มีชีวิตผ่านสิ่งมีชีวิต แล้วหมุนเวียนกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม องค์ประกอบตามธรรมชาติว่าด้วย สิ่งมีชีวิต ดำรงชีวิตโดยใช้แร่ธาตุและสารจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะพบแร่ธาตุต่างๆ อยู่ตามธรรมชาติ ในรูปของสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของสารได้ดังนี้

1.  Hydrologic cycle  หมายถึง วัฏจักรของน้ำ

2.  Gaseouscycle หมายถึง วัฏจักรการเคลื่อนย้ายวัตถุที่แหล่งสำรองในบรรยากาศและทะเล
เช่น วัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรออกซิเจน และวัฏจักไนโตรเจน

3.  Sedimentary cycle  หมายถึง    วัฏจักรการเคลื่อนย้ายธาตุที่มีแหล่งสำรองในพื้นดินใน
     รูปของแข็งสู่วัฏจักรเมื่อมีการผุกร่อน เช่น วัฏจักรฟอสฟอรัส วัฏจักรแคลเซียม วัฏจักรซัลเฟอร์

1.4 ทรัพยากรธรรมชาติ

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาต

1.ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่หมด
        ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช่ไม่หมด หมายถึง ทรัพยากร ที่มี อยู่มากเกิน ความต้องการ ใช้อย่างไรก็มี วันหมดสิ้น เพราะธรรมชาติ มีระบบที่ผลิตทรัพยากรชนิดนี้ออกมา อย่างรวดเร็ว ในปริมาณมาก ๆ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี หรือไม่ก็ ไม่ช่วยกันรักษา ก็อาจเสื่อมคุณภาพได้ และใช้ประโยชน์ ได้น้อยลง เช่น อากาศ  แสง เป็นต้น


2.ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้
        ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อนำมาใช้แล้ว ธรรมชาติสามารถ สร้างทดแทนขึ้นในส่วนที่ใช้ไปได้ แต่ต้องใช้เวลานาน พอสมควร ซึ่งถ้ามีการดูแลรักษา และ จัดการอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ทรัพยากรชนิดนั้น คุณภาพ และปริมาณอย่างเพียงพอ ที่จะทำให้มนุษย์ นำไปใช้ อย่างยาวนาน โดยไม่ต้อง เดือดร้อน เช่น น้ำ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น


3.ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป
                ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อนำมาใช้ หมดไป ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ ได้ หรือ ต้องใช้ระยะเวลานาน นับหลายหมื่น หรือหลายแสนปีกว่าธรรมชาติ จะสร้างขึ้น ใหม่ได้ เช่น แร่ธาตุชนิดต่างๆ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น




ความรู้พื้นฐานเรื่องชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นชนิดแยกกันไม่ออก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทุกชีวิตที่เกิดขึ้นบนโลกย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อม และทุกชีวิตย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปเป็นมาของแต่ละชีวิต ย่อมมีสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องกำหนด ในขณะเดียวกันชีวิตแต่ละชีวิตก็มีส่วนในการกำหนดสิ่งแวดล้อม มนุษย์ก็เป็นชีวิตหนึ่งที่กำเนิดขึ้นมาบนโลก ชีวิตของมนุษย์ก็ย่อมมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นเช่นเดียวกับ ชีวิตอื่นๆ แต่ด้วยมนุษย์เป็นชีวิตที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากชีวิตอื่นๆ มนุษย์มีความสามารถที่เป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ ซึ่งต่างจากชีวิตอื่น คือความสามารถในการประดิษฐ์และการใช้เครื่องมือมาปรับหรือดัดแปลงสิ่งแวด ล้อมให้เป็นไปตามความต้องการหรือความพึงพอใจของตนเอง ในขณะที่ชีวิตอื่นๆ มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อการอยู่รอด การกำเนิดและการดำรงอยู่ของมนุษย์จึงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวด ล้อม และทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตอื่นๆ รวมทั้งชีวิตของมนุษย์เองอย่างมากมาย
การศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม จะทำให้มนุษย์เราสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

          ทุกชีวิตที่กำเนิดขึ้นบนโลกต่างก็ดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เมื่อพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา จะเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตคือสสารและพลังงาน ที่มาของสสารและพลังงานสำหรับชีวิต ได้มาจากสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันชีวิตก็ไม่สามารถที่จะเก็บสะสมสสารและพลังงานเอาไว้ในตัวเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา เพราะจะทำให้ชีวิตเสียความสมดุล ทุกชีวิตจึงจำเป็นต้องถ่ายเทสสารและพลังงานออกจากตัว ซึ่งสสารและพลังงานเหล่านี้ก็จะต้องถูกถ่ายเทออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นทุกชีวิตจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากสิ่งแวดล้อมที่จะให้และ รับสสารและพลังงาน นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมยังเป็นแรงกดดันที่ทำให้ชีวิตต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งมีผลต่อการวิวัฒนาการของชีวิตในที่สุด
          มนุษย์ก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่กำเนิดขึ้นมาบนโลก และดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต การดำรงอยู่ของมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับชีวิตอื่นๆ แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของมนุษย์ที่มีความสามารถพิเศษเหนือชีวิตอื่นๆ ทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง ได้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ
          นับตั้งแต่โลกได้กำเนิดขึ้น สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใดก็ตาม ไม่เคยอยู่ในสภาวะที่คงที่เลย ชีวิตต่างๆ ที่กำเนิดบนโลกก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดเช่นกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องปกติของโลก การเกิดและการดับสูญของชีวิตก็เป็นความปกติเช่นเดียวกัน   วิวัฒนาการของชีวิตในยุคเริ่มแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,500  ล้านปี โดยเริ่มจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ต่อมาจึงวิวัฒนาการมาเป็นพืชและสัตว์ตามลำดับ มนุษย์เป็นชีวิตที่วิวัฒนาการขึ้นมาบนโลกเมื่อไม่นานมานี้ แต่การกำเนิดของมนุษย์นั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมบนโลกอย่าง มากมาย
          ปัญหาที่ชีวิตทุกชีวิตจะต้องเผชิญคือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางครั้งค่อยๆ เปลี่ยน แต่ในบางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมสามารถจำแนกสาเหตุออกได้ 2 ประการ คือ
1) การเปลี่ยนแปลงที่มีสาเหตุจากธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เช่นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ และการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป เช่นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน ฯลฯ
2) การเปลี่ยนแปลงที่มีสาเหตุจากมนุษย์ ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยสารพิษ การทำเหมืองแร่ การล่าสัตว์ การเพาะปลูกเพื่อการค้า ฯลฯ
การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด ย่อมมีผลต่อชีวิตต่างๆ เช่นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบในการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการขยายพันธุ์ ความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม การสูญเสียความสามารถในการปรับตัว การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม ฯลฯ  ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ นั้นอาจก่อให้เกิดประโยชน์หรือเกื้อหนุนค้ำจุนต่อชีวิตใดชีวิตหนึ่งหรือหลาย ชีวิต แต่ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ นั้นอาจทำให้เกิดการเสียประโยชน์หรือเกิดโทษหรือเกิดการทำลายล้างชีวิต หนึ่งๆ หรือหลายชีวิตได้
 อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการ กระทำของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างหลากหลายในรูปแบบและส่งผลต่อชีวิตต่างๆ รุนแรงกว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธรรมชาติ 

มนุษย์กับความเป็นมา

1. ความหมายและลักษณะสำคัญของมนุษย์
    พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  ได้ให้ความหมายของคำว่า  “มนุษย์”  ไว้ดังนี้ มนุษย์ หมายถึง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล  สัตว์ที่มีจิตใจสูง คน
    ในสาขาวิชาต่างๆ ได้กล่าวถึงมนุษย์ไว้หลายประการ ดังเช่น ในสาขามนุษยศาสตร์กล่าวถึงมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐหรือสัตว์ที่มีจิตใจสูง ในสาขาสังคมศาสตร์กล่าวถึงมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และในสาขาวิทยาศาสตร์ ก็จัดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในอาณาจักรสัตว์
    จากความหมายของมนุษย์ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม   รวมทั้งการกล่าวถึงมนุษย์ในลักษณะต่างๆ ตามแนวคิดของแต่ละสาขา จะพบว่ามนุษย์กับสัตว์นั้นมีลักษณะบางประการร่วมกันอยู่ และมีลักษณะบางประการแตกต่างกันออกไป
ชาร์ลส์  ดาร์วิน  (Charles  Darwin) นักปราชญ์ชาวอังกฤษผู้สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ ได้ชี้ให้เห็นลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2402 และเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่นั้นมา ลักษณะซึ่งมนุษย์และสัตว์มีอยู่ร่วมกันนั้น คือลักษณะสากลของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่นมีความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ เพื่อการดำรงชีวิต มีความสามารถในการสืบพันธุ์ ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ เป็นต้น  การที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีลักษณะที่เหมือนๆ กันอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลายวิวัฒนาการมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน และเนื่องจากกระบวนการวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตจึงได้มีการพัฒนาการมาโดยลำดับ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์สืบต่อๆ กันไป และมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เกิดลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มนุษย์มีลักษณะพิเศษหลายประการที่บรรดาสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่มี จนทำให้บางคนไม่ยอมรับว่ามนุษย์คือสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะพิเศษของมนุษย์  เช่นสามารถกินอาหารได้มากมายหลายประเภท  กินได้ทั้งพืชและสัตว์ มีลักษณะลำตัวตั้งตรงกับพื้นโลก เคลื่อนที่ด้วยขาสองขา     มีความเฉลียวฉลาด สามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์ได้        ลักษณะของมนุษย์มีความได้เปรียบกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ  โดยเฉพาะสมองของมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย  นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบน้ำหนักของร่างกายกับขนาดของสมองของ สัตว์หลายชนิด ผลปรากฏว่าร่างกายของมนุษย์จะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของสมองมนุษย์เอง ประมาณ 50 เท่าตัว ร่างกายของสุนัขจะมีน้ำหนักมากกว่าสมองของมันประมาณ 110 เท่าตัว ส่วนช้างจะมีน้ำหนักของร่างกายมากกว่าสมองประมาณ 1,000 เท่า  ด้วยสมองที่มีขนาดใหญ่และทรงคุณภาพยิ่ง  ทำให้มนุษย์มีสติปัญญาในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย  รู้จักสร้างภาพหรือสัญลักษณ์  รู้จักสร้างเครื่องมือในการสื่อความหมาย รู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา มนุษย์สามารถสะสมและถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้

ภาพที่ 1.1  เปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ และสัตว์ 

2. วิวัฒนาการของมนุษย์
   
    วิวัฒนาการ (evolution) ในทางชีววิทยา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทีละเล็กละน้อย จากสิ่งที่มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบอย่างง่ายๆ ไปเป็นสิ่งที่มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบที่สลับซับซ้อน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่างไปจากเดิม นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจวิวัฒนาการมาจากเซลล์เพียง เซลล์เดียว หลังจากสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มเกิดขึ้นในโลก  สิ่งแวดล้อมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตลอดเวลา    สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง  เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural  selection) จนได้สิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างต่างๆ กัน  จากสิ่งมีชีวิตง่ายๆ วิวัฒนาการไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อน กลายเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์  สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไม่แข็งแรงและมีลักษณะบางอย่างเฉพาะเกินไปจนไม่สามารถ ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้  ก็จะค่อยๆ ตายและสูญพันธุ์ไป   คงเหลือแต่พวกที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้    และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์เป็นกระบวนการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเข้ากับสภาพแวดล้อม
    จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของสิ่งมีชีวิตแรกที่สุดจนถึงยุคปัจจุบัน    ทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่ามนุษย์ได้วิวัฒนาการมาจากไพรเมต (Primate คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชั้นสูงมีรูปร่างคล้ายลิง) เมื่อประมาณ 60 ล้านปีมาแล้ว  ไพรเมตเป็นสัตว์ที่มี 5 นิ้ว ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตและหากินอยู่บนต้นไม้ โดยอาศัยนิ้วมือนิ้วเท้าที่ค่อนข้างยาวเกาะกิ่งไม้  ต่อมาจึงวิวัฒนาการมาเป็นไดรโอพิทธีคัส  (Dryopithecus คือบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างมนุษย์กับลิง)   เมื่อประมาณ 12 - 28 ล้านปีที่ผ่านมา     หลังจากนั้นวิวัฒนาการต่อมาเป็นรามาพิทธีคัส (Ramapithecus)  เมื่อประมาณ 12 - 14 ล้านปีก่อนปัจจุบัน  จากรามาพิทธีคัสจึงได้วิวัฒนาการต่อมาเป็นออสตราโลพิทธีคัส (Australopithecus) และโฮโม ฮาบิลิส  (Homo Habilis หมายถึงมนุษย์ผู้ถนัดใช้มือ) เมื่อประมาณ  4 -  5 ล้านปีมาแล้ว จากหลักฐานพบว่าออสตราโลพิทธีคัสและโฮโม ฮาบิลิส กำเนิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่โฮโม ฮาบิลิสได้สูญพันธุ์ไปก่อน นักวิทยาศาสตร์จึงมีความเห็นว่า         ออสตราโลพิทธีคัส คือบรรพบุรุษของโฮมินิด (Hominid คือ สัตว์ในตระกูลมนุษย์) ในช่วงเวลาต่อมา  นั่นก็คือเป็นบรรพบุรุษของโฮโม อีเรคตัส (Homo Erectus หมายถึงมนุษย์ตัวตรง) ซึ่งมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 1,500,000 - 300,000 ปี มาแล้ว  จากโฮโม อีเรคตัสได้วิวัฒนาการต่อมาเป็น โฮโม ซาเพียน (Homo sapien)  ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ปัจจุบัน
     จุดเริ่มต้นของโฮโม  ซาเพียน ซึ่งวิวัฒนาการมาจาก โฮโม อีเรคตัส เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เมื่อประมาณ 300,000 ปีมาแล้ว  โครงกระดูกของ โฮโม ซาเพียน ในยุคแรกๆ พบทั้งในบริเวณทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา  แต่ในระยะหลังๆ ค้นพบในบริเวณต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้นทวีปอเมริกา)
      โฮโม  ซาเพียน  ยุคเก่ามีลักษณะแตกต่างจาก โฮโม ซาเพียน ยุคใหม่ โฮโม ซาเพียน ยุคเก่าจะมีลักษณะเชื่อมต่อระหว่างโฮโม อีเรคตัส กับ โฮโม ซาเพียน  ส่วนโฮโม ซาเพียน ยุคใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 50,000 ปีมาแล้ว มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน  โฮโม ซาเพียนยุคใหม่ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ยุคปัจจุบัน  ได้แก่มนุษย์โคร-มายอง (Cro-magnon man)  ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พบโครงกระดูกของมนุษย์พวกนี้หลายโครงกระดูกด้วยกันใน บริเวณถ้ำที่โคร-มายอง  ประเทศฝรั่งเศส  โดยทั่วๆ ไปนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมีความโน้มเอียงเชื่อว่ามนุษย์โคร-มายอง   เป็นบรรพบุรุษที่แท้จริงของมนุษย์แบบปัจจุบัน
     จากหลักฐานต่างๆ  พบว่าที่อยู่อาศัยของมนุษย์โคร-มายองส่วนใหญ่ คือบริเวณถ้ำและกระท่อม หรือที่พักที่ทำด้วยหิน  มนุษย์โคร-มายอง  รู้จักการล่าสัตว์  เช่น  กวาง ม้าป่า  รู้จักสร้างเครื่องมือและอาวุธที่ทำด้วยหิน กระดูก และเขากวาง รู้จักการสร้างงานด้านศิลปะ   มีการแกะสลักภาพบนแผ่นหินและกระดูกสัตว์  งานศิลปะของมนุษย์โคร-มายอง  มีคุณภาพสูงมากจนเป็นที่น่าประหลาดใจ  ผลงานทางด้านศิลปะของมนุษย์โคร-มายอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นแรกของมนุษย์  จากหลักฐานต่างๆ ที่พบ นักวิทยาศาสตร์สรุปว่ามนุษย์โคร-มายอง มีความก้าวหน้ากว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์พวกอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
    เรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์มิใช่เรื่องที่จะศึกษาให้ได้ความจริง ที่ง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของอดีตอันยาวนานมาก แม้จะศึกษาจากซากดึกดำบรรพ์หรือซากกลายเป็นหินของมนุษย์ ก็ยากที่จะค้นพบ และสิ่งที่ค้นพบก็มิใช่จะอยู่ในสภาพที่จะวิเคราะห์เพื่อหาความเป็นมาที่ถูก ต้องได้ง่ายๆ  อย่างไรก็ตามนักวิชาการต่างๆ ก็ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด  ได้มีการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ในท้องที่ต่างๆ  มีการนำมาศึกษาเรียงลำดับวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะได้พบหลักฐานที่สมบูรณ์ขึ้นและได้เรื่องราวที่น่าเชื่อ ถือได้มากขึ้น 

ภาพที่ 1.2 วิวัฒนาการทางกายภาพของมนุษยชาติ
3. ชาติพันธุ์ของมนุษย์
   ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า โฮโม  ซาเพียนคือบรรพบุรุษของมนุษย์แบบปัจจุบัน    ดังนั้นมนุษย์ในปัจจุบันไม่ว่าจะพูดภาษาใด  มีรูปร่างหน้าตารวมทั้งลักษณะในทางร่างกายผิดแผกแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดก็ ตาม        ต่างก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันคือตระกูลโฮโม ซาเพียนหรือตระกูลมนุษย์ฉลาด  เมื่อมนุษย์สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันหรือบรรพบุรุษเดียวกันแล้ว  เพราะเหตุใดมนุษย์จึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเป็นพวกใหญ่อย่างเห็นได้ชัด  มีสาเหตุประการใดบ้างที่ทำให้ลักษณะของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป   การเปลี่ยนแปลงนี้มีมาแต่ครั้งใดและมีความเป็นมาอย่างไร ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไม่สามารถคิดค้นหาคำตอบได้อย่างสมบูรณ์ หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ในเรื่องนี้มีอยู่น้อยและมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย   เกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถรวบรวมนำมาวิเคราะห์และช่วยทำให้ปัญหา เหล่านี้กระจ่างแจ้งขึ้น  อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ ประการหนึ่ง น่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณ เช่น ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อลักษณะทางกายภาพของมนุษย์   รวมทั้งมีอิทธิพลต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย  โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์สรุปว่ามนุษย์กลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างในชาติพันธุ์นั้นได้เริ่มมีขึ้นเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว
    การจำแนกชาติพันธุ์ของมนุษย์ในที่นี้ จะพิจารณาในแง่ความแตกต่างทางกายภาพ โดยเฉพาะทางร่างกายตามหลักชีววิทยาเท่านั้น และจะหมายถึงชาติพันธุ์ใหญ่ของมนุษย์ที่วิวัฒนาการขึ้นมาหลังจากการเป็นโฮโม ซาเพียนแล้ว   ลักษณะทางกายภาพที่นำมาใช้เป็นเครื่องกำหนดชาติพันธุ์ได้แก่  สีผิว  ลักษณะของนัยน์ตา  รูปทรงของร่างกาย  เป็นต้น และโดยลักษณะทางกายภาพต่างๆ ของมนุษย์ จึงได้จำแนกชาติพันธุ์ของมนุษย์ออกเป็นพวกใหญ่ๆ  3 พวก คือ
      1) พวกคอเคซอยด์ (Caucasoid) หรือพวกผิวขาว (white race)  ลักษณะทั่วไปจัดว่ามีรูปร่างตั้งแต่ปานกลาง ถึงสูงใหญ่ มีรูปหน้าเรียวยาว กะโหลกศรีษะยาว จมูกโด่ง มีผมสีน้ำตาลและสีทอง เส้นผมหยักศกบ้าง ตรงบ้าง
      2) พวกมองโกลอยด์ (Mongoloid)   หรือพวกผิวเหลือง (yellow race) ลักษณะทั่วไปมีรูปร่างสูงใหญ่ขนาดปานกลางจนถึงเตี้ย มีรูปศรีษะกว้าง รูปหน้ากว้าง โหนกแก้มสูง ผิวเหลืองจนถึงเหลืองคล้ำ เส้นผมสีดำ ลักษณะหยาบและเหยียดตรง
      3) พวกนิกรอยด์ (Negroid)  หรือพวกผิวดำ (black race) ลักษณะทั่วไปมีรูปศรีษะยาว มีกระดูกขากรรไกรยื่น รูจมูกกว้าง คางเล็ก ริมฝีปากยื่น  ผิวสีน้ำตาลคล้ำจนถึงดำ เส้นผมหยิกและหยาบ มีรูปร่างตั้งแต่เตี้ยมากจนถึงสูง
     จากการที่มนุษย์ได้มีการอพยพโยกย้ายแผ่ กระจายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ก่อให้เกิดการผสมปนเปกันในเรื่องชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของมนุษย์  ทำให้มนุษย์มีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากชาติพันธุ์เดิม จึงได้มีการแยกชาติพันธุ์ของมนุษย์ออกเป็นชาติพันธุ์ย่อยๆ อีกมากมายซึ่งจะไม่นำมากล่าวถึงในที่นี

มนุษย์กับธรรมชาติ

มนุษย์กับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานานแสนนาน ตั้งแต่มนุษย์แรกปรากฏขึ้นมาบนพื้นโลก มนุษย์เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของธรรมชาติ    มนุษย์อาศัยอยู่ในธรรมชาติ มนุษย์อาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ธรรมชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติเป็นส่วนของกันและกัน  มนุษย์กับธรรมชาติไม่อาจแยกตัวออกจากกันและกันได้  เมื่อใดที่มีเหตุมีผลกำหนดให้ต้องแยกจากกัน  เมื่อนั้นย่อมวินิจฉัยได้ว่าทั้งมนุษย์และธรรมชาติกำลังมุ่งวิถีการเปลี่ยน แปลงสู่หายนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย 
      เป็นที่แน่ชัดว่าปัจจัยทั้งสี่ของชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยวัตถุ ย่อมได้มาจากการแปรสภาพหรือการทำลายส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ในอดีตผู้คนในยุคต้นๆ นั้นมีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ   การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป  จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติจะปรับสมดุลในตัวของมันเองได้   ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจึงยังไม่ปรากฏให้เห็น แต่เมื่อมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีควา-มเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วเพื่อสนองต่อความต้องการของ มนุษย์    และในปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคแห่งการแข่งขันกันพัฒนาทางด้าน เศรษฐกิจ  ส่งผลให้มีการทำลายล้างธรรมชาติอย่างรุนแรงจนถึงระดับที่ธรรมชาติเริ่มเสีย สมดุล และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น  ในวันนี้เรามีคำถามที่จะต้องขบคิดกันว่า มนุษย์ในที่สุดจะถึงกับทำลายธรรมชาติที่ตนได้อาศัยเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่สมัย ดึกดำบรรพ์ จนสุดท้ายชีวิตของมนุษย์เองก็ต้องถูกทำลายตามไปด้วยหรือไม่
      เพื่อให้การศึกษาในเรื่องวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติ      สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น จึงแบ่งวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติออกเป็น 4 ระดับ คือ

        ระดับที่ 1 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ถูกควบคุมโดยธรรมชาติ
        ระดับที่ 2 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ
        ระดับที่ 3 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ทำลายธรรมชาติ............
        ระดับที่ 4 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ถูกทำลายโดยธรรมชาติ

        ความสัมพันธ์ในลักษณะที่มนุษย์ถูกควบคุมโดยธรรมชาติ   ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะเช่นนี้กินเวลายาวนานมาก  นับตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์แบบปัจจุบันได้กำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้เมื่อ ประมาณ 300,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยเริ่มแรกนั้นอยู่ในโลกที่ปราศจากขอบเขต เมื่อถิ่นที่อยู่ของเขาไม่มีอาหาร หรือสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ก็ย้ายไปหาที่อยู่ใหม่  พวกเขาจะแสวงหาที่อยู่ใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ชีวิตสามารถอยู่รอดต่อไปได้ มนุษย์ในสมัยนี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชพันธุ์ต่างๆ ที่หาได้จากธรรมชาติ    เริ่มแรกของการล่าสัตว์ก็ใช้มือเปล่าในการจับสัตว์เล็กๆ และต่อมารู้จักใช้อาวุธง่ายๆ ในการล่าสัตว์ใหญ่  มนุษย์เริ่มแรกยังไม่รู้จักการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์  พวกเขารู้จักทำอาวุธและเครื่องมือต่างๆ ด้วยหิน กระดูก และเขาสัตว์ ใช้หนังสัตว์เป็นเครื่องนุ่งห่ม รู้จักใช้ไฟ  อาศัยอยู่ในถ้ำ  วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในระยะแรกๆ ยังไม่ดีไปกว่าสัตว์อื่นๆ มากนัก มนุษย์ใช้พลังงานของร่างกายทั้งหมดไปในการแสวงหาอาหารมาบริโภค ความปลอดภัยในชีวิตมีน้อย เนื่องจากการที่ต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาอาหาร ทำให้เวลาว่างน้อย    ในระยะเริ่มแรกของการมีมนุษย์  ธรรมชาติยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือของมนุษย์  ทั้งนี้เพราะในขณะนั้นประชากรยังมีจำนวนน้อยและอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ประกอบกับมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ  ขีดความสามารถในการดัดแปลงธรรมชาติยังมีน้อย
      วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยเริ่มแรกจะตกอยู่ภายใต้ อิทธิพลของธรรมชาติอย่างแท้จริง ปัจจัยในการดำรงชีวิตทุกอย่างได้มาโดยตรงจากธรรมชาติ ความเป็นอยู่ต่างๆ ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติยังมีน้อย   แต่ความใกล้ชิดหรือความผูกพันในธรรมชาติมีมาก พวกเขาให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติอย่างมาก  พวกเขาอยู่กับธรรมชาติในลักษณะทั้งรักและทั้งกลัว   รักเพราะรู้ว่าธรรมชาติมีคุณต่อเขา ให้อาหารและทุกสิ่งทุกอย่างแก่เขา  แต่กลัวเพราะรู้ว่าธรรมชาติอาจทำลายเขาและทุกสิ่งทุกอย่างได้เช่นกัน  เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อ พิธีกรรม  เพื่อแสดงความขอบคุณ  แสดงความคารวะ ขอโทษ ขออนุญาต แก่พระเป็นเจ้า เทพเจ้า วิญญาณที่เป็นเจ้าของธรรมชาติ
      เมื่อมนุษย์เรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้น  มีความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น     วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงก้าวเข้ามาสู่ระดับ ที่มนุษย์ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ พวกเขาเรียนรู้และเข้าใจ ธรรมชาติของพืชและสัตว์  ได้ผ่านการลองผิดลองถูกในสิ่งที่พวกเขากินเข้าไป  ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์   การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์คือการที่มนุษย์ รู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว  10,000 - 12,000 ปีมาแล้ว  มนุษย์รู้จักใช้ไฟเผาป่าเพื่อเอาพื้นที่มาทำการเพาะปลูก   รู้จักใช้เครื่องมือในการขุดพรวนดิน เช่น จอบ เสียม    การเพาะปลูกก็เริ่มด้วยการเก็บเอาเมล็ดพืชจากป่าหรือที่อยู่ตามธรรมชาติมา ปลูกในบริเวณที่ต้องการ ต่อมาก็รู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกเอาไว้ใช้ในครั้งต่อๆ ไปได้  การเลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นโดยการจับสัตว์มาเลี้ยงไว้ในบริเวณใกล้ที่พัก   เมื่อสัตว์ป่าออกลูกออกหลานต่อๆ ไป ก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ การเปลี่ยนสภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์   จากการเก็บของป่าล่าสัตว์ มาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ นับเป็นการวางรากฐานสำคัญของรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ แต่ก่อนนี้ชีวิตมนุษย์มีวงจำกัดอยู่กับจำนวนสัตว์ที่ล่าและจำนวนพืชผลที่ไป เสาะแสวงหามาได้ ในสมัยนี้มนุษย์มีผลิตผลจากพืชและสัตว์ที่ผลิตขึ้นในปริมาณที่มากกว่า   อาหารการกินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น  ความเป็นอยู่ต่างๆ ดีขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น ประชากรมีจำนวนมากขึ้น  มนุษย์ในสมัยนี้มีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้มีเวลาคิดประดิษฐ์สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตมากขึ้น มีการทำเครื่องปั้นดินเผา รู้จักใช้โลหะทำเครื่องมือในการเกษตรกรรม รู้จักทอผ้า รู้จักปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย บริเวณใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีมีน้ำใช้ตลอดปี มนุษย์ก็จะสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านและอยู่แบบถาวร   บางบริเวณที่มีกิจกรรมมีหน้าที่ซับซ้อนขึ้นก็จะกลายเป็นเมือง
การที่มนุษย์เริ่มเอาชนะธรรมชาติ เริ่มรู้จักดัดแปลงธรรมชาติมากขึ้น   มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิมให้เป็นสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การทำลายป่าไม้เพื่อนำมาทำพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พืชพันธุ์ธรรมชาติเดิมถูกทำลายและบางชนิดสูญพันธุ์   สัตว์ป่าได้รับอันตราย ไร้ที่อยู่ ขาดแคลนอาหาร และบางชนิดก็สูญพันธุ์ไปในที่สุด  และยังส่งผลไปสู่ธรรมชาติส่วนอื่นๆ เช่น ดินเกิดการชะล้างพังทลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  โรคและแมลงบางชนิดระบาด รบกวนพืชผลทางการเกษตร  ภาวะอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดอุทกภัย แต่ความรุนแรงในการทำลายธรรมชาติในระยะนี้ยังมีไม่มากเท่ากับในระยะต่อมา ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้นจำนวนประชากรยังมีจำนวนน้อยกว่า เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก็ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ธรรมชาติยังมีโอกาสฟื้นตัวและปรับตัวให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้
      ด้วยพลังความคิดที่มีอย่างมากมาย มนุษย์สามารถพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นมาตามลำดับ    จากเครื่องมือแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มาเป็นเครื่องมือชั้นสูงที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง   มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวิทยาการมากขึ้นมาเป็นลำดับ   ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ความลี้ลับต่างๆ ในธรรมชาติถูกเปิดเผยมากขึ้น เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความรู้ความคิดใหม่ ๆ แก่มนุษย์โดยทั่วไป ความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่เปรียบเสมือนดาบสองคม  ด้านหนึ่งจะช่วยทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยการดัดแปลงธรรมชาติรอบๆ ตัวให้เป็นประโยชน์กับตนเอง   แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมหรือสูญสิ้น จนไม่เหลือประโยชน์ใดๆ ให้แก่มนุษย์เลย วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ได้ก้าวมาถึงระดับที่มนุษย์ทำลายธรรมชาติอย่างแท้จริง เมื่อตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการนำเครื่องจักรมาแทนเครื่องมือที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เครื่องจักรไอน้ำที่เกิดขึ้นครั้งแรกนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ที่รู้จักวิธีการเก็บกัก พลังงานไว้ เพื่อใช้หมุนหรือเดินเครื่องจักร เป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพลังงานจากลม น้ำ มนุษย์ และสัตว์ ที่เคยใช้กันมาแต่เดิม  มนุษย์ในสมัยนี้รู้จักการนำเอาพลังงานเคมีที่เก็บสะสมไว้ในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมาใช้ รู้จักการนำแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ประโยชน์  สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีมากขึ้น  อายุขัยของมนุษย์ยาวนานขึ้น  จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การแพทย์การสาธารณสุขที่ดีขึ้นทำให้อัตราการตายลดน้อยลง    ในระยะต้นของการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมนั้น   โลกมีประชากรประมาณ 700 กว่าล้านคน    และหลังจากที่ได้พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมาประมาณ 200 ปี ผู้คนก็เพิ่มจำนวนเป็น 3,000 กว่าล้านคน ต่อจากนั้นอีกประมาณ 40 ปีต่อมา คือในปัจจุบัน โลกมีประชากรประมาณ 6,000 กว่าล้านคน
      จากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว   ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรง การเพิ่มของประชากรที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตมีอัตรา สูงตามไปด้วย  ประกอบกับการบริโภคนั้นมิได้เป็นไปเพื่อสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการ ดำรงชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว การบริโภคในปัจจุบันนั้นมีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย  ไม่ประหยัด บริโภคเกินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามแรงกระตุ้นของวัฒนธรรมการบริโภคแบบทุนนิยม ซึ่งขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก การแข่งขันกันทางการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้ บริโภค    นำไปสู่การล้างผลาญทรัพยากร ธรรมชาติอย่างมากมาย จนยากที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นใหม่ได้ทัน ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างแม้จะมีปริมาณมากมายเหลือเฟือ ใช้ไม่มีวันหมด แต่ก็สามารถเสื่อมโทรมลงได้ หากมนุษย์ใช้อย่างไม่ถูกวิธี ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติมาจนถึงระดับหนึ่งคือระดับที่ธรรมชาติไม่สามารถ ปรับสมดุลในตัวเองได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ไปไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่  หรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ทันความต้องการของมนุษย์  อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่เสื่อมโทรมลง หมดสภาพที่จะใช้ประโยชน์ ก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงได้เข้าสู่ระดับที่มนุษย์ถูกทำลายโดยธรรมชาติ
      ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าความสามารถของโลกในการรองรับมนุษย์และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ถูกบั่นทอนลงไปอย่างมากมาย   นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน โลกต้องสูญเสียป่าไม้ไปถึง 6 ล้านตารางกิโลเมตร การตกตะกอนเนื่องจากหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลายตามลุ่มน้ำสำคัญๆ ของโลกเพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว และในลุ่มน้ำขนาดเล็กลงไปเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัว กิจกรรมการผลิตของมนุษย์ได้เพิ่มก๊าซมีเทนในบรรยากาศขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวร้อยละ 27   และทำลายก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสเตรโตสเฟียร์ลง มนุษย์ได้ทิ้งสารพิษ สารเคมีต่างๆ เข้าสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
      การทำลายป่าไม้อย่างรุนแรงของมนุษย์ ได้ทำลายความสมดุลในระบบนิเวศ ทำให้สัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย  เป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดินอย่างมาก เพิ่มความรุนแรงของภัยธรรมชาติ   อันได้แก่ภัยจากความแห้งแล้ง จากอุทกภัย บั่นทอนความอุดมสมบูรณ์ของดินลง  อีกทั้งเกิดปัญหาขาดแคลนไม้เพื่อใช้สอย   เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย  เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงผลที่มนุษย์เราได้รับจากการทำลาย ธรรมชาติที่กระทำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน
       เหตุการณ์หนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์อย่างดีของผลที่ได้รับ จากการตัดไม้ทำลายป่า   คือเหตุการณ์ในวันที่  19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531       ได้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช   เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลบ่าพาซุงลงมาพังบ้านเรือนของประชาชน ค่าเสียหายประมาณ 6 พันล้านบาท   สาเหตุสำคัญเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกยางพาราที่รากไม่ลึก เมื่อฝนตกลงมาหน้าดินถูกชะล้างไหลเป็นโคลน พัดพาสิ่งต่างๆ ไหลลงมาด้วยพลังมหาศาล จึงเกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในบริเวณนั้น 
      ปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรกรรม และอื่นๆ อย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ในปีนี้รัฐบาลได้ประกาศงดจ่ายน้ำให้เกษตรกรทำนาปรัง และประกาศให้เกษตรกรลดการทำนาปรังให้มากที่สุด  ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   แต่ในปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยกลับประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในภาคกลาง
ทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงได้รับความเดือดร้อน เป็นอันมาก  สร้างความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศชาติ


ในปี พ.ศ.2544 ภัยพิบัติครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกที่บ้านน้ำก้อ  อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวคือได้มีกระแสน้ำป่าจำนวนมากมายมหาศาล รวมทั้งซากต้นไม้และโคลน ไหลทะลักลงมาจากเทือกเขาเข้าทำลายทรัพย์สินและชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน สาเหตุเกิดจากนายทุนและชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าบนเทือกเขาสูง ใกล้หมู่บ้าน เพื่อทำไร่ข้าวโพดและไร่ขิง เมื่อฝนตกหนัก จึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากการทำลายสมดุลแห่ง ธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง


ภาพที่ 1.3 สภาพพื้นที่ของบ้านน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2544

       จากการศึกษาของนัก วิทยาศาสตร์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก    พบว่าหลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลมและฝน  การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบไปยังการผลิตอาหาร พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้   ระบบนิเวศหลายๆ บริเวณ หลายท้องที่ต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งและคลื่นความร้อนอันยืดเยื้อยาวนาน    ในปี พ.ศ. 2538  สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาความร้อนที่สูงมากผิดปกติในช่วงฤดูร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่นครซิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 กว่าคน  จากยอดผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนผิดปกติทั้งหมด 600 กว่าคน
คำอธิบายที่ดีที่สุดของปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็คือการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจก (green house gases) ที่เกิดจากกิจกรรมในการดำรงชีพของมนุษย์      ก๊าซดังกล่าวที่สำคัญคือคาร์บอนไดออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน และมีเทน   ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกระจกที่มองไม่เห็นแผ่ปกคลุมโลกอยู่  มันปล่อยให้แสงแดดส่องผ่านลงมาได้พร้อมกับความร้อน   แต่จะเก็บความร้อนที่เกิดขึ้นใกล้ผิวโลกเอาไว้จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน  การลดปริมาณก๊าซดังกล่าวสามารถกระทำได้หลายวิธี ดังเช่นลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ถ่านหิน  ลดการเผาป่า ลดการทำลายป่าไม้ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น
    ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในหลายๆ ส่วนของโลก รวมทั้งประเทศไทย ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดถึงผลของการทำลายธรรมชาติของมนุษย์   โดยทั่วไปมนุษย์มักมองเห็นว่าการเร่งรัดพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรม  และด้านเศรษฐกิจ  เป็นการนำสิ่งที่ดีมาสู่มวลมนุษย์     ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการมองเพียงด้านเดียว แท้ที่จริงแล้วการพัฒนาอย่างไร้ขอบเขตอย่างไม่มีขีดจำกัด     และไม่คำนึงถึงสมดุลของธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาให้กับหมู่มวลมนุษย์เอง  ยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด ปัญหาต่างๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
      เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ มนุษย์จะต้องเปลี่ยนวิถีทางการดำเนินชีวิตมาสู่การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ในการเริ่มต้นดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนนั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจและยอมรับพันธกรณีในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ สังคมชีวิตอันยิ่งใหญ่ มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในผลของการกระทำและการตัดสินใจใน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมรุ่นต่อๆ ไป การพัฒนาของมนุษย์จะต้องไม่กระทบกระเทือนหรือทำลายความเป็นเอกภาพของ ธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ตนก่อให้เกิดแก่ธรรมชาติ มนุษย์ต้องอนุรักษ์ความหลากหลายของธรรมชาติ ความหลากหลายในธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นสิ่งที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

สิ่งแวดล้อม

1. ความหมายของสิ่งแวดล้อม
 
   ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535   ได้ให้ความหมายของ "สิ่งแวดล้อม" ไว้ดังนี้
    สิ่งแวดล้อม   หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น
    ในทางวิชาการ สิ่งแวดล้อม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ล้อมรอบตัวมนุษย์ มีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต     ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรม   มีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายปัจจัยอื่นอย่างหลีกเลี่ยง มิได้  เป็นวงจรหรือวัฏจักรที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งระบบ
2. ประเภทของสิ่งแวดล้อม
   จากความหมายของสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไว้ข้างต้น เราสามารถจำแนกประเภทของสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท โดยพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสิ่งแวดล้อม ได้แก่
   
    2.1 สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (natural environment)  สิ่งแวดล้อมประเภทนี้  ย่อมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ     สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป   ที่กล่าวกันว่าเป็นความหลากหลายในธรรมชาติ   บางชนิดใช้เวลาในการเกิดยาวนานมาก บางชนิดใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเกิด  สิ่งแวดล้อมชนิดหนึ่งๆ  ย่อมมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมชนิดอื่นๆ  ถ้ามีการทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งย่อมมีผลถึงสิ่งแวดล้อมอื่น     สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ    สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ  โดยพิจารณาจากการมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต
         2.1.1 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (biotic  environment)  เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเกิด เป็นสิ่งแวดล้อมที่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้   แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สูญสิ้นไปได้ หากมนุษย์เราทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ได้แก่ป่าไม้ สัตว์ป่า ทุ่งหญ้า สัตว์น้ำ เป็นต้น
         2.1.2 สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (abiotic  environment)      เป็นสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา บางชนิดใช้ระยะเวลาในการเกิดยาวนานมาก นานจนมนุษย์ไม่สามารถรอใช้ประโยชน์ได้ และสามารถสูญสิ้นไปได้ หากมนุษย์ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ได้แก่ แร่ธาตุ แร่เชื้อเพลิง บางชนิดเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏให้มนุษย์ได้เห็น ได้รู้สึก ได้สัมผัส อย่างมากมายเหลือเฟือ ไม่มีวันสูญสิ้นไปจากโลก ได้แก่ ดิน หิน น้ำ อากาศ ความร้อน แสงสว่าง เสียง เป็นต้น
     
    2.2 สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made  environment)   สิ่งแวดล้อมประเภทนี้มนุษย์อาจสร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ มีทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ และสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้หรือไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเองหรืออาจ สร้างขึ้นด้วยเหตุจำเป็นบางประการ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีทั้งสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรง ชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบาย  ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่ไม่ดีที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เลวลง ทำให้มนุษย์ได้รับความเดือดร้อน ต้องสูญเสียชีวิตหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สุขภาพจิตเสื่อมโทรมลง    สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น  สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ   โดยพิจารณาจากความเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมของสิ่งนั้นๆ 
            2.2.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical  environment)    เป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นได้ จับต้องได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการมีชีวิตอยู่  บางสิ่งที่มนุษย์สร้างก็เป็นไปเพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของการดำรง ชีวิต ได้แก่  ปัจจัยสี่ อันหมายถึง  อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  แต่บางสิ่งก็สร้างเพื่อสนองความต้องการอันไร้ขอบเขตของตนเอง     ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างที่เกินความจำเป็น อันจะนำความเสียหายมาสู่สิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์เองได้เมื่อถึงระดับ หนึ่ง      สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมีทั้งสิ่งที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ เช่น บ้านเรือน เสื้อผ้า รถยนต์ ถนน เครื่องมือทางการแพทย์ โทรศัพท์ เป็นต้น และสิ่งที่ไม่ดี ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลง  เช่น น้ำเน่าเสีย  สารพิษที่ใช้ในการเกษตร สารพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
          2.2.2 สิ่งแวดล้อมทางสังคม (social  environment)   เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นนามธรรม มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่นกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นต้น บางสิ่งอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม เป็นต้น บางสิ่งอาจสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมความเจริญให้เกิดขึ้นแก่หมู่มวลมนุษย์ เช่น การศึกษา การวิจัย เป็นต้น บางสิ่งสร้างขึ้นโดยพฤติกรรม การแสดงออกทั้งในลักษณะที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การทะเลาะวิวาท การช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน การติดยาหรือสารเสพย์ติด เป็นต้น



ภาพที่ 1.4  ประเภทของสิ่งแวดล้อม 

3. สมบัติของสิ่งแวดล้อม
   สิ่งแวดล้อมย่อมมีสมบัติเฉพาะตัว การแสดงสมบัติของสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นการแสดงออกของบทบาท/หน้าที่ของสิ่งแวดล้อมนั้น การเข้าใจสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องสมบัติของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ดังรายละเอียดต่อไปนี้
            1) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่ง แวดล้อมจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านโครงสร้างหรือองค์ประกอบ เช่นรูปทรง ขนาด สี หรือกระบวนการที่สร้างสิ่งแวดล้อมนั้น เอกลักษณ์ที่แสดงออกมานั้น สามารถบ่งบอกได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอะไร เช่นป่าชายเลน ป่าสน ป่าดงดิบ ภูเขา บ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ประเพณี ศาสนา พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น
            2) สิ่งแวดล้อมนั้นจะไม่อยู่โดดเดี่ยวในธรรมชาติ โดยธรรมชาติแล้ว จะไม่มีสิ่งแวดล้อมใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีสิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ด้วยเสมอ เช่น สัตว์น้ำกับทะเล มนุษย์กับบ้านเรือน สัตว์ป่ากับป่าเบญจพรรณ สัตว์น้ำวัยอ่อนกับป่าชายเลน ถนนกับรถยนต์ เป็นต้น
            3) สิ่งแวดล้อมทั้งหลายมักมีความเกี่ยวเนื่องและมีความสัมพันธ์ต่อกัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมไม่อยู่โดดเดี่ยว จึงต้องมีความเกี่ยวเนื่องและมีความสัมพันธ์ต่อกัน เช่นป่าไม้ต้องการธาตุอาหารในดินเพื่อการเจริญเติบโต สัตว์ป่าต้องการป่าไม้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากิน มนุษย์ต้องการน้ำไว้เพื่อการใช้สอยและดื่มกิน การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ ย่อมส่งผลกระทบถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ การทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพของน้ำ เป็นต้น
            4) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีความทนทานและความเปราะบางต่อการถูกกระทำในระดับที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่ควบคุมความทนทานหรือความเปราะบางของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คุณลักษณะเฉพาะตัว แหล่งกำเนิด ขนาด รูปทรง สี อายุ ความสามารถในการป้องกันตนเอง ฯลฯ ปัจจัยควบคุมเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายแตกต่างกัน ออกไป สิ่งแวดล้อมที่มีความทนทานสูงย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายได้ยาก สิ่งแวดล้อมที่มีความเปราะบางย่อมมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลายได้ง่าย เช่นสัตว์บางชนิดมีลักษณะที่สวยงาม มีความสามารถในการป้องกันตัวเองน้อย และอาศัยอยู่ในบริเวณที่ง่ายแก่การล่า ก็อาจสูญพันธุ์ได้ง่าย จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่กระทำการ ใดๆ มิฉะนั้นโลกของเราอาจจะต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างไปอย่างน่าเสียดาย
            5) สิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงได้             ทั้งในด้านปริมาณและ            คุณลักษณะ   สิ่ง แวดล้อมโดยทั่วไปจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ทั้งในด้านปริมาณและคุณลักษณะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออย่างรวดเร็วก็ได้ อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมนั้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นมนุษย์ สัตว์ และพืช ย่อมเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ไปตามธรรมชาติ น้ำและอากาศอาจมีสภาพเสื่อมโทรมลงจากการกระทำของมนุษย์ สัตว์ป่าเหลือน้อยลงเนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย บ้านเรือนพังทลายเพราะพายุที่พัดผ่านอย่างรุนแรง

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมแล้ว การกระทำของมนุษย์ยังมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ในทำนองเดียวกันสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ก็จะมีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์
มนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมที่มหัศจรรย์ประเภทหนึ่ง มนุษย์มีขีดความสามารถเหนือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  มนุษย์สามารถนำสิ่งแวดล้อมหนึ่งมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่  พฤติกรรมของมนุษย์มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม   ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์   พฤติกรรมของมนุษย์จะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม   การกระทำใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยเสมอ    ด้วยเหตุดังนี้ เราจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่ง แวดล้อม  เพื่อจะได้รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และเพื่อมิให้เราทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

1. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์ 
  
   สิ่งแวดล้อมล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ สร้างขึ้น ซึ่งสามารถแยกอธิบายให้เห็นได้ชัดเจนดังนี้ 
   สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ   เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการตั้งถิ่นฐาน ด้านลักษณะของที่อยู่อาศัย ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น  แต่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสามารถกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้มากน้อย เพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์เอง หากมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามาก  มนุษย์ย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยลง    และยังสามารถดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นประโยชน์กับตนเองได้มาก ด้วย  ซึ่งเราสามารถที่จะนำวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่ด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกา เช่น เผ่าบุชเมน เผ่าปิ๊กมี มาเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปหรืออเมริกา เหนือได้ กลุ่มชนที่ด้อยความเจริญในทวีปแอฟริกาจะมีวิถีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย  พึ่งพาอาศัยธรรมชาติค่อนข้างมาก   การดัดแปลงธรรมชาติยังมีน้อย  ในขณะที่กลุ่มชนที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาเหนือ จะมีวิถีความเป็นอยู่ที่ซับซ้อน พยายามหาวิธีที่จะเอาชนะธรรมชาติ  การดัดแปลงธรรมชาติมีมาก   เราจึงเห็นได้ว่าการที่มนุษย์พยายามปรับตัว เพื่อเอาชนะธรรมชาติ หรือหาวิธีนำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะทำให้เกิดความแตกต่างในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อม ทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน
    และแน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกันที่มีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนิน ชีวิตของมนุษย์ การที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์หาทางที่จะใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างมี ประสิทธิภาพ   ทำให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการของมนุษย์ ก็ได้สร้างสิ่งที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม  เช่น  ก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกสู่อากาศ ทำให้อากาศเป็นพิษ มีสภาพไม่เหมาะสมแก่การหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  น้ำเสียที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยลง สู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย มีความเป็นพิษ  สัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตได้ มนุษย์เองก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้
    ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ค่านิยม   เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์    มนุษย์เราเมื่ออยู่ร่วมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิต กำหนดพฤติกรรมที่พึงปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  มนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกันย่อมมีรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะ เดียวกัน เช่นพูดภาษาเดียวกัน  ยึดถือกฎเกณฑ์เดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมกำหนด อาจไม่ได้รับการยอมรับในสังคมนั้น อาจเกิดความขัดแย้งหรืออาจถูกลงโทษได้
    กล่าวโดยสรุปคือ  สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละ พื้นที่   ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ย่อมมีผลให้รูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์แตกต่างกันออกไป ซึ่งในที่นี้จะนำบางตัวอย่างมาอธิบาย เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น        
      (1) ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากร  ถ้าหากเรานำจำนวนประชากรของโลกทั้งหมดเฉลี่ยให้กระจายอย่างสม่ำเสมอแล้ว  ความหนาแน่นของประชากรโลกจะประมาณ  13  คนต่อตารางกิโลเมตร  (คำนวณจากประชากรโลก ปี พ.ศ.2551 ซึ่งมีจำนวน 6,682 ล้านคน)   แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว     ประชากรโลกมักจะอาศัยอยู่รวมกันตามบริเวณที่มีสภาพทางธรรมชาติเหมาะสมกับการ ดำรงชีวิต  มนุษย์มักเลือกอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์   มีลักษณะอากาศไม่รุนแรง อุณหภูมิปานกลาง ปริมาณน้ำฝนพอเหมาะ เราจึงพบว่าบริเวณที่มีลักษณะทางธรรมชาติไม่เหมาะสม เช่น ทะเลทรายสะฮาราทางเหนือของทวีปแอฟริกา ที่ราบลุ่มแม่น้ำในไซบีเรียของประเทศรัสเซียจะมีประชากรอาศัยอยู่น้อยมาก
         นอกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากรแล้ว สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ยังเป็นตัวกำหนดลักษณะการตั้งถิ่นฐานเช่น เดียวกัน ดังจะพบว่าในเขตเมืองซึ่งมีสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นถนน น้ำ ไฟ โทรศัพท์  ครบครัน มีสถานศึกษาหลายระดับ หลายประเภท  มีบริการทางการแพทย์การสาธารณสุข อีกทั้งความสะดวกสบายนานับประการ  เหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองกันอย่าง หนาแน่น  และหลายพื้นที่อาจมีประชากรหนาแน่นมากจนเกินกว่าที่เมืองนั้นๆ จะรับได้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ส่วนในเขตชนบทซึ่งมีลักษณะทุกอย่างตรงข้ามกับในเขตเมือง  จะพบว่ามีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง    ซึ่งลักษณะการกระจายของประชากรที่ไม่สม่ำเสมอเช่นนี้  เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
         ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของประชากรในประเทศไทย ก็เป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จะพบว่าในขณะที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีประชากรหนา แน่นมาก คือประมาณ 3,652 คน ต่อตารางกิโลเมตร  แต่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน อยู่ห่างไกลความเจริญ   มีความหนาแน่นของประชากรเพียง 20 คนต่อตารางกิโลเมตร (สถิติประชากร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
     (2) ลักษณะที่อยู่อาศัย  ลักษณะบ้านหรือที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามสิ่งแวดล้อม    ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ทัศนคติ ความเชื่อ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอื่นๆ 
         ในอดีตประเทศไทยเคยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ การก่อสร้างบ้านเรือนในสมัยก่อนนิยมสร้างด้วยไม้ แต่ในปัจจุบันป่าไม้ของไทยมีจำนวนน้อยลง หาได้ยาก และราคาแพง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจึงเปลี่ยนแปลงไป มีการนำอิฐ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น ฯลฯ มาใช้ในการก่อสร้าง รูปทรงของบ้านเรือนในอดีตเป็นรูปทรงที่เหมาะกับลักษณะอากาศที่ร้อนและชื้นใน ประเทศไทย  คือมีหลังคาแหลมเป็นหน้าจั่วสูง มีหน้าต่างมาก มีเฉลียง มีช่องระบายอากาศมาก  นอกจากนั้นในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จะสร้างบ้านที่มีลักษณะใต้ถุนสูง   ในยุคปัจจุบันไทยเรารับวัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือนแบบตะวันตกมาใช้โดยไม่ดัด แปลงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ผลที่ปรากฏให้เห็นก็คือบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อน้ำท่วม กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางเมื่อ ปี พ.ศ.2538 มีบ้านสมัยใหม่ที่ไม่มีใต้ถุนสูงได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ภาพที่ 1.5 เปรียบเทียบบ้านทรงไทยใต้ถุนสูงกับบ้านแบบตะวันตกชั้นเดียว ในสภาวะน้ำท่วม
ที่มา : นุกูล ชมภูนิช. (2530). บ้านไทย เอกลักษณ์ของชาติ. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.
         ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นมาก  อุณหภูมิโดยทั่วไปค่อนข้างต่ำ มีฤดูหนาวที่ยาวนาน  ชาวเอสกิโมซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะสร้างบ้านด้วยแท่งน้ำแข็ง ที่เรียกว่าอิ๊กลู (Igloo) ในช่วงฤดูหนาว   แต่ในฤดูร้อนซึ่งหิมะและน้ำแข็งเริ่มละลาย จะอาศัยอยู่ในเต็นท์หนังสัตว์  ในปัจจุบันชาวเอสกิโมบางส่วนได้รับอิทธิพลจากชาวอเมริกัน จะอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน
          ฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมของผู้อยู่อาศัย   จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง วัสดุที่ใช้ ความโอ่อ่าหรูหรา ขนาดของบ้านเรือน ประโยชน์ของการใช้สอย เป็นต้น เราจึงพบความแตกต่างของที่อยู่อาศัยอย่างมากมายในแต่ละพื้นที่
      (3) ลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ    มนุษย์จะเลือกประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม บางพื้นที่ให้โอกาสในการประกอบกิจกรรมได้น้อยอย่าง แต่บางพื้นที่ให้โอกาสในการประกอบกิจกรรมได้มากอย่าง  ความแตกต่างทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความรู้ ความสามารถเฉพาะบุคคล สภาพเศรษฐกิจและสังคม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องกำหนดลักษณะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เช่นกัน
         กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถือได้ว่าเป็นของกลุ่มชนที่ล้าหลังมากที่สุด   ได้แก่ การเก็บของป่า ล่าสัตว์ และจับปลา หรืออาจเรียกว่าการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติ  ลักษณะทั่วๆ ไปคือการหาอาหารเมื่อหิว ความเป็นอยู่แร้นแค้น เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการหาอาหาร ซึ่งเป็นการหาจากธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้น  มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มักมีชีวิตแบบเร่ร่อน  ไม่มีที่อยู่อาศัยที่แน่นอน     ดังเช่น พวกปิ๊กมี (Pygmy) ที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำคองโก ทวีปแอฟริกา  พวกเขาจับปลา  ล่าสัตว์ ด้วยอาวุธหรือเครื่องมืออย่างง่ายๆ มีการเก็บพืชผลในป่ามาบริโภค
          การเพาะปลูกแบบยังชีพ ซึ่งเป็นการเพาะปลูกแบบง่ายๆ มีเครื่องทุ่นแรงน้อย อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขาดความรู้ในการพัฒนาอาชีพ ผลผลิตที่ได้มีไม่มาก   จะพบได้ทั่วไปในกลุ่มชนที่ด้อยพัฒนาในทวีปเอเชีย  ทวีปแอฟริกา  และทวีปอเมริกาใต้
           ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่ที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการผลิต มีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง  มีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ มีการใช้เครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงเข้าช่วยในการเกษตร การปลูกพืชมักปลูกพืชเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งในพื้นที่กว้างขวาง
            ในปัจจุบันเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่ได้สร้างปัญหาหลายประการ  เช่น  ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีโรคแมลงศัตรูพืชรบกวน สมดุลในธรรมชาติเสียไป  ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และบางครั้งอาจสูงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน เกิดภาวะหนี้สินตามมา  ซึ่งเป็นทางนำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่อไปอีก   ในบางพื้นที่จึงได้ให้ความสนใจในการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งน่าจะลดปัญหาอันเกิดจากเกษตรกรรมสมัยใหม่ได้ ในประเทศไทยเองเกษตรกรบางส่วนก็ได้หันเห มาสู่การเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ทำให้มีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี   ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ รักษาเนื้อดินไม่ให้เสื่อมคุณภาพเร็ว โรคแมลงศัตรูพืชไม่รบกวนมาก ต้นทุนในการผลิตไม่สูงมากจนเกิดความไม่คุ้มทุน
          อุตสาหกรรมเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พบมากในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น    มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบา มีผลิตภัณฑ์หลายลักษณะส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก   นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีหนึ่งๆ เป็นมูลค่ามหาศาล  ประชากรในประเทศเหล่านี้จะมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูง   ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย  ได้หันเหวิถีการดำรงชีวิตแบบเกษตรกรรมมาสู่แบบอุตสาหกรรม  เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย  อีกทั้งยังมุ่งหวังที่จะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ด้วย  การนำพาประเทศเข้าสู่วิถีทางแห่งอุตสาหกรรมนั้น หากมองทางด้านเศรษฐกิจแต่เพียงประการเดียว        การพัฒนาอุตสาหกรรมจะเป็นหนทางนำพาประเทศไปสู่รายได้อันมากมาย  ในทางสังคมผู้คนจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น  มาตรฐานการครองชีพจะสูงขึ้น แต่เมื่อมองกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมจะพบว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างมาก มายและรวดเร็ว  สิ่งแวดล้อมถูกเปลี่ยนแปลง สมดุลในธรรมชาติเสียไป สิ่งแวดล้อมบางส่วนเสื่อมโทรมลง ธรรมชาติไม่สามารถปรับสมดุลได้ทัน
     (4) ลักษณะอาหารที่บริโภค    อาหารที่มนุษย์บริโภคในแต่ละพื้นที่ของโลกมีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้าง คล้ายคลึงกันบ้าง ทั้งนี้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกข้าวเจ้า  ผู้คนในแถบนี้จะนิยมบริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก   ประชากรในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือนิยมบริโภคข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวสาลี
          ในเขตทะเลทรายซึ่งมีแต่ความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ มีพืชเติบโตได้บ้างในบางบริเวณ  เช่น ตามโอเอซิส (Oasis) มีต้นอินทผลัม    ผู้คนในแถบนี้จึงอาศัยผลอินทผลัมเป็นอาหารสำคัญ   สัตว์ที่เลี้ยงได้ก็มีอยู่น้อยชนิด  สัตว์ที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขา คือ อูฐ ซึ่งอาศัยได้ทั้งแรงงานในการบรรทุกสิ่งของ และอาศัยเนื้อ นม เป็นอาหาร
           แม้ว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะเป็นตัวกำหนดชนิดของพืชหรือสัตว์ที่จะนำมา เป็นอาหาร แต่สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดทางด้านอื่นๆ  เช่นวิธีการปรุงอาหาร วิธีการบริโภคอาหาร เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเดียวกัน  ผู้คนอาจมีลักษณะของอาหารที่บริโภคแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่นด้านรสชาติ  รูปแบบ คุณภาพ เป็นต้น
          บางแห่งความเชื่อทางศาสนาจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชนิดของอาหารที่ บริโภค      เช่น อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงโคเป็นจำนวนมาก แต่ชาวอินเดียมิได้บริโภคเนื้อโคเป็นอาหาร  เนื่องจากตามความเชื่อของชาวฮินดู ถือว่าโคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จะทำร้ายหรือฆ่าเป็นอาหารไม่ได้  ชาวอินเดียอาศัยนมโคเป็นอาหาร ส่วนเนื้อสัตว์จะบริโภคเนื้อแพะ เนื้อแกะ ส่วนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามจะไม่บริโภคเนื้อสุกร
          ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมขนส่ง  ทำให้ลักษณะของอาหารที่บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ทำให้สามารถบริโภคอาหารที่ตนเองไม่สามารถผลิตได้  ผู้คนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวอาจซื้อพืชผลเมืองร้อนมาบริโภค เช่น  กาแฟ กล้วยหอม สับปะรด ทุเรียน มังคุด เป็นต้น  ส่วนผู้คนในเขตร้อนก็อาจซื้อพืชผลจากเขตอบอุ่นมาบริโภค  เช่น  ข้าวสาลี  แอปเปิล แพร์  เป็นต้น
          ลักษณะอาหารที่บริโภคในประเทศไทยนั้น มีทั้งอาหารที่เป็นอาหารไทย และอาหารต่างประเทศ การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ  ทำให้วัฒนธรรมในการบริโภคของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายประการ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ดี  เช่น การรู้จักเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ  และสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ความนิยมในการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ซึ่งบางครั้งอาจมีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะแก่การบริโภค
      (5) ลักษณะเครื่องนุ่งห่ม    ลักษณะอากาศจะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ โดยทางตรง ลักษณะอากาศโดยเฉพาะอุณหภูมิจะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะและความหนาบางของ เครื่องนุ่งห่ม  โดยทางอ้อม ลักษณะอากาศจะมีผลต่อวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เช่นในเขตร้อน มีพืชประเภทฝ้าย ป่าน  ผู้คนในเขตร้อนจึงนิยมใช้เส้นใยจากพืชเหล่านี้มาผลิต และจะได้เนื้อผ้าซึ่งเหมาะสมกับลักษณะอากาศ ในเขตที่มีอากาศหนาวเย็น นิยมเครื่องนุ่งห่มที่มีความหนา เพื่อให้ร่างกายรู้สึกอบอุ่น  ขนสัตว์ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต  เช่น ขนแกะ ขนเฟอร์ (fur)  ในทะเลทรายที่ซึ่งมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมาก เต็มไปด้วยฝุ่นดิน ฝุ่นทรายที่ลมหรือลมพายุพัดมา ผู้คนจำเป็นต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ค่อนข้างหนาและห่อหุ้มเกือบทุกส่วน ของร่างกาย เพื่อป้องกันความร้อนในเวลากลางวัน ป้องกันมิให้ร่างกายสูญเสียความชื้นมากเกินไป ป้องกันความหนาวเย็นในเวลากลางคืน  รวมทั้งป้องกันฝุ่นดิน ฝุ่นทรายมิให้ทำอันตรายต่อผิวหนัง
          ความเจริญก้าวหน้าของผู้คนก็มีส่วนในการกำหนดลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม จะพบว่ากลุ่มชนที่มีความเจริญน้อย จะไม่ค่อยรู้จักการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เช่น พวกบุชเมน (Bushmen) ในทะเลทรายคาลาฮารี   ร่างกายจะต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละฤดู กาล    ผู้คนที่อยู่ในเขตที่เจริญแล้วจะมีการผลิตเครื่องนุ่งห่มมากมายหลายลักษณะ  เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะอากาศ และเหมาะสมกับสิ่งอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สถานที่ เวลา เพศ วัย ความนิยม ความเชื่อ เทศกาล เป็นต้น  แม้ว่าโดยทั่วๆ ไปกลุ่มชนแต่ละหมู่ละเหล่า มักจะมีการแต่งกายที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ลวดลาย สี   แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน  ทำให้เครื่องนุ่งห่มของแต่ละชนชาตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การแต่งกายแบบชาวตะวันตกนั้นมีข้อดีคือ  ใส่แล้วมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว แต่ต้องรู้จักดัดแปลงให้เหมาะสม เช่น ความหนาบางของผ้า วัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ รูปแบบของเสื้อผ้า
         ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม   จะเป็นเครื่องกำหนดลักษณะของเครื่องนุ่งห่มของผู้คนอีกประการหนึ่ง เราจึงพบความหลากหลายของเครื่องนุ่งห่ม แม้ว่าจะอยู่ในประเทศเดียวกัน
      (6) ลักษณะสุขภาพอนามัย  สุขภาพทางกายและใจของมนุษย์เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมทำให้มนุษย์มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ  หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ
          การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  ย่อมหมายถึง การได้อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ  มีน้ำสะอาดไว้ใช้สอย ดื่มกิน มีอาหารที่สะอาด ถูกหลักโภชนาการไว้บริโภค  มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะสมและเพียงพอ ผู้คนที่แวดล้อมรอบตัวเรามีจิตใจที่ดีงาม เหล่านี้เป็นต้น
          การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี  หมายถึงการอยู่ในที่ที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์ อากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย มีเสียงดังรบกวน  มีอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค  มีโจรผู้ร้ายชุกชม  มีการต่อสู้แย่งชิงกัน  มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เลย
          การดำรงรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี   ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์  ประเทศชาติจะสามารถพัฒนาไปได้ดี หากประกอบด้วยผู้คนที่มีสุขภาพดีและมีคุณภาพสูง
     อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์  นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในอีกหลายด้าน     เช่น  ด้านการปกครอง การเมือง กิจกรรมนันทนาการ การศึกษา  ประเพณี ระดับของเทคโนโลยี เป็นต้น
2. อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม  
   การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลกจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด มนุษย์จะเป็นตัวกระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม มีการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหนึ่งให้เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่ง  เช่นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้าง ขึ้น  หรืออาจเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเดิมให้เป็นสิ่งแวดล้อมแบบ ใหม่ กล่าวได้ว่าอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ  ก็คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งนั่นเอง ซึ่งเหตุผลของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นมีมากมายหลายสาเหตุ  มีทั้งกระทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข เพื่อการแข่งขัน เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เหล่านี้เป็นต้น
    การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น    มนุษย์ได้กระทำต่อเนื่องกันมานานนับตั้งแต่มนุษย์อุบัติขึ้นบนพื้นผิวโลก การเปลี่ยนแปลงนั้นได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวน ประชากรและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  รวมทั้งความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดอย่างไม่มีการ หยุดยั้ง

กล่องข้อความ: นาข้าว จังหวัดเชียงใหม่
ภาพที่ 1.6 มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม

    มนุษย์เปลี่ยนแปลงพื้นที่ทุ่งหญ้า ป่าไม้ ให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม   มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลงชุมชนชนบทให้เป็นชุมชนเมือง  มีการเปลี่ยนแปลงเมืองเล็กให้เป็นเมืองใหญ่ มีการเปลี่ยนระดับของเทคโนโลยีจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในแม่น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในทะเล  มีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่มนุษย์ได้กระทำให้เกิดบนพื้นโลกนี้   ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทั้งในทางบวกและทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งตัวมนุษย์เอง
     กล่าวโดยสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  จะเห็นได้ว่า  มนุษย์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ไม่อาจแยกตัวเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้ ในเมื่อมนุษย์มีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นเช่นนี้    มนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธภาระความรับผิดชอบต่อการพิทักษ์รักษาสภาพแวดล้อมที่ดี ให้คงอยู่ตลอดไป  เพื่อความอยู่รอดของตัวมนุษย์เอง

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พันธุกรรมและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต


ความหลากหลายของชนิดหรือชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต (species diversity              
   ความหลากหลายแบบนี้วัดได้จากจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิต และจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด รวมทั้งโครงสร้างอายุและเพศของประชากรด้วย
ความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecological diversity)        ระบบนิเวศแต่ละระบบเป็นแหล่งของถิ่นที่อยู่อาศัย (habitat) ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ซึ่งมีปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศนั้น สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีวิวัฒนาการมาในทิศทางที่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในระบบนิเวศที่หลากหลาย แต่บางชนิดก็อยู่ได้เพียงระบบนิเวศที่มีภาวะเฉพาะเจาะจงเท่านั้น ความหลากหลายของระบบนิเวศขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดผ่านกระบวนการวิวัฒนาการในอดีต และมีขีดจำกัดที่จะดำรงอยู่ในภาวะความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในประชากรของมันเองส่วนหนึ่งและขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมอีกส่วนหนึ่ง หากไม่มีทั้งความหลากหลายทางพันธุกรรมและความหลากหลายของระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตกลุ่มนั้นย่อมไร้ทางเลือกและหมดหนทางที่จะอยู่รอดเพื่อสืบทอดลูกหลานต่อไปความสำคัญ        ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเอกลักษณ์ประจำโลกของเรา ทำให้โลกเป็นดาวเคราะห์ที่แตกต่างจากดาวเคราะห์อื่นในสุริยจักรวาล ดังนั้นในระดับมหภาค ความหลากหลายทางชีวภาพจึงช่วยธำรงโลกใบนี้ให้มีบรรยากาศ มีดิน มีน้ำ มีอุณหภูมิ และความชื้นอย่างที่เป็นอยู่ให้ได้นานที่สุด

 การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม   
          การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม คือ ลักษณะต่าง ๆ ในสิ่งมีชีวิตจะถ่ายทอดไปทาง ยีน ที่อยู่ใน เซลล์สืบพันธุ์ ยีนแต่ละคู่จะควบคุมลักษณะของสิ่งมีชีวิตลักษณะเดียวกัน เช่น
ลักษณะใบหน้าถูกควบคุมโดย ยีนA โครโมโซมแท่งหนึ่ง และยีน a บนโครโมโซมอีกแท่งหนึ่งลักษณะใบหน้าที่ปรากฏออกมาจึงขึ้นอยู่กับ ว่ายีนที่อยู่บนโครโมโซมทั้งสองเป็นยีนที่ควบคุม
หรือกำหนดให้มีลักษณะใบหน้าเป็นแบบใด ( กลม เหลี่ยม หรือรูปไข่ ) ในการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ( เซลล์ไข่และอสุจิ ) โครโมโซมแต่ละคู่จะแยกจากกัน ไปอยู่ในเซลล์ใหม่
(เซลล์ที่จะเจริญไปเป็นเซลล์สืบพันธุ์) ทำให้ยีนที่อยู่บนโครโมโซมแยกกันไปด้วย และ เมื่อเซลล์ไข่ และ อสุจิมารวมกันในการปฏิสนธิ ยีนก็จะมาเข้าคู่กันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยีนคู่ใหม่ที่ได้นี้ครึ่งหนึ่งจะมาจากพ่อ ( จากเซลล์อสุจิ )ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะมาจากแม่(จากเซลล์ไข่ ) เซลล์ใหม่ที่ได้ ( เซลล์ลูก ) จึงมียีนของทั้งพ่อและแม่รวมกันและได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่มาด้วยลักษณะที่ ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในมนุษย์และสัตว์ เช่น โครงสร้างอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหว สีขน สีผิว รูปร่าง ฯลฯลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในพืช เช่น โครงสร้างของลำต้น รูปร่างของผล ดอก ใบ 
การเรียงตัวของใบ กลีบดอก และสี
                                                           
              ยีน      ยีน (gene) คือ หน่วยพันธุกรรมที่อยู่บนโครโมโซม (chromosome) มีลักษณะเรียงกันเหมือนสร้อยลูกปัด ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูกหลาน ในคนจะมียีนประมาณ 50,000 ยีน แต่ละยีนจะควบคุมลักษณะต่างๆ ทางพันธุกรรมเพียงลักษณะเดียว ยีนที่ควบคุมลักษณะพันธุกรรมบางอย่างมี 2 ชนิด คือ
            1. ยีนเด่น (dominant gene) คือ ยีนที่แสดงลักษณะนั้นๆ ออกมาได้ แม้มียีนนั้นเพียงยีนเดียว
            2. ยีนด้อย (recessive gene) คือ ยีนที่สามารถแสดงลักษณะให้ปรากฏออกมาได้ ก็ต่อเมื่อมียีนด้อยทั้งสองยีนอยู่บนคู่โครโมโซม

            โครโมโซม
       โครโมโซม (chromosome) ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย นิวเคลียส เยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาซึม เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูนิวเคลียสของเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวจะเห็นโครงสร้างมีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ เล็กๆ ขดไปมาเรียกโครงสร้างนี้ว่า โครมาทิน (chromatin) เมื่อเซลล์โครมาทินขดแน่นมากขึ้นและหดสั้นลง จะมีลักษณะเป็นแท่งเรียกว่า โครโมโซม (chromosome) โครโมโซมแต่ละโครโมโซมประกอบด้วยแขน 2 ข้าง เรียกว่า โครมาทิด (chromatid) ซึ่งแขนทั้งสองจะมีจุดเชื่อมกันเรียกว่า เซนโทรเมียร์ (centromere) ดังรูป

รูปแสดงโครโมโซม

          จำนวนโครโมโซมของสิ่งมีชีวิต มีจำนวนโครโมโซมที่คงที่และเท่ากันเสมอ ถ้าสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันจะมีจำนวนโครโมโซมที่แตกต่างกัน จำนวนโครโมโซมในเซลล์ร่างกายและโครโมโซมในเซลล์สืบพันธุ์จะแตกต่างกัน โดยโครโมโซมในเซลล์สืบพันธุ์จะมีเพียงครึ่งหนึ่งของเซลล์ร่างกาย
           การศึกษาจำนวนและรูปร่างโครโมโซมของสิ่งมีชีวิต เช่น คน ทำโดยนำเซลล์ร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดมาศึกษา และนำมาถ่ายภาพของโครโมโซม จากนั้นจึงนำภาพถ่ายโครโมโซมมาจัดเรียงตามรูปร่าง ลักษณะ และขนาด โดยนำโครโมโซมที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันและขนาดใกล้เคียงกันมาจัดไว้ในคู่เดียวกันในคนมีโครโมโซม 46 แท่ง จัดได้ 23 คู่ แบ่งเป็นออโทโซม ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันในเพศชายและเพศหญิงจำนวน 22 คู่ ส่วนคู่ที่ 23 เป็นโครโมโซมเพศ มีลักษณะต่างกันดังรูป

โครโมโซมร่างกาย 1 เซลล์ของร่างกาย
  โครโมโซมร่างกาย 1 เซลล์ของผู้หญิง

 รูปแสดงโครโมโซมร่างกายของเพศชายและเพศหญิง

        ในเพศชายมีโครโมโซมเพศหนึ่งแท่งขนาดใหญ่ เรียกว่า โครโมโซม X และโครโมโซมเพศอีกแท่งหนึ่งมีขนาดเล็ก เรียกว่า โครโมโซม Y สัญลักษณ์เพศชายคือ XY ส่วนโครโมโซมเพศของเพศหญิงเป็นโครโมโซม X เหมือนกันทั้งคู่ สัญลักษณ์เพศหญิงคือ XX 
        ภายในนิวเคลียสของแต่ละเซลล์ประกอบเป็นร่างกายของสิ่งมีชีวิต จะมีจำนวนโครโมโซมเท่ากันหมดทุกเซลล์ เช่น ทุกๆ เซลล์ของร่างกายคนมีโครโมโซมจำนวน 46 แท่ง ส่วนในเซลล์สืบพันธุ์จะมีโครโมโซมเพียงครึ่งเดียวของเซลล์ร่างกาย ดังแผนภาพ

แผนภาพแสดงเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายและเพศหญิง

        เมื่อเซลล์อสุจิ (sperm) ของพ่อและเซลล์ไข่ (egg) ของแม่ ซึ่งมีโครโมโซมเซลล์ละ 23 แท่ง มารวมกันเป็นเซลล์ใหม่ มีจำนวนโครโมโซม 46 แท่ง
ซึ่งเท่ากับเซลล์ร่างกายปกติดังรูป

รูปแสดงโครโมโซมภายหลังการปฏิสนธิ

        สำหรับความสำคัญต่อมนุษย์นั้นมีมากมายมหาศาล เนื่องจากมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของชีวภาพ จึงต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตด้วยกันเพื่อการดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ต่างๆ มนุษย์จึงใช้ประโยชน์จากความ  หลากหลายทางชีวภาพในทุกด้านและใช้มากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะใช้ประโยชน์ด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัยเพื่อความอยู่รอดแล้ว ยังใช้ในด้านการอำนวยความสะดวกสบาย ความบันเทิงและอื่นๆ อย่างหาขอบเขตมิได้ ในวิวัฒนาการมีมนุษย์เกิดขึ้นเพียงประมาณ 1 แสนปีมาแล้ว ดังนั้น เมื่อเทียบกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพก่อนที่จะมีมนุษย์อยู่ในโลกนี้ มนุษย์จึงมีช่วงเวลาที่จะรู้จักและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้น้อยมาก แต่เพียงเล็กน้อยเท่านี้ก็ทำให้มนุษย์เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ชนิดใดๆ การขยายถิ่นฐาน รวมทั้งการขยายขอบเขตของการใช้ทรัพยากรชีวภาพจากเพื่อความอยู่รอด และความพออยู่พอกินมาเป็นความฟุ่มเฟือยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้มนุษย์ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพในอัตราที่เร็วกว่าปกตินับพันเท่า ซึ่งแท้จริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสมบัติพื้นฐานที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่รอด คงจะมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมากที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วด้วยน้ำมือของมนุษย์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อนที่มนุษย์จะได้มีโอกาสนำมาใช้ประโยชน์เสียด้วยซ้ำไป