วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มนุษย์กับธรรมชาติ

มนุษย์กับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นมานานแสนนาน ตั้งแต่มนุษย์แรกปรากฏขึ้นมาบนพื้นโลก มนุษย์เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของธรรมชาติ    มนุษย์อาศัยอยู่ในธรรมชาติ มนุษย์อาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ธรรมชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติเป็นส่วนของกันและกัน  มนุษย์กับธรรมชาติไม่อาจแยกตัวออกจากกันและกันได้  เมื่อใดที่มีเหตุมีผลกำหนดให้ต้องแยกจากกัน  เมื่อนั้นย่อมวินิจฉัยได้ว่าทั้งมนุษย์และธรรมชาติกำลังมุ่งวิถีการเปลี่ยน แปลงสู่หายนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย 
      เป็นที่แน่ชัดว่าปัจจัยทั้งสี่ของชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยวัตถุ ย่อมได้มาจากการแปรสภาพหรือการทำลายส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ในอดีตผู้คนในยุคต้นๆ นั้นมีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ   การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป  จึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติจะปรับสมดุลในตัวของมันเองได้   ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจึงยังไม่ปรากฏให้เห็น แต่เมื่อมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีควา-มเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วเพื่อสนองต่อความต้องการของ มนุษย์    และในปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคแห่งการแข่งขันกันพัฒนาทางด้าน เศรษฐกิจ  ส่งผลให้มีการทำลายล้างธรรมชาติอย่างรุนแรงจนถึงระดับที่ธรรมชาติเริ่มเสีย สมดุล และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น  ในวันนี้เรามีคำถามที่จะต้องขบคิดกันว่า มนุษย์ในที่สุดจะถึงกับทำลายธรรมชาติที่ตนได้อาศัยเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่สมัย ดึกดำบรรพ์ จนสุดท้ายชีวิตของมนุษย์เองก็ต้องถูกทำลายตามไปด้วยหรือไม่
      เพื่อให้การศึกษาในเรื่องวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติ      สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น จึงแบ่งวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติออกเป็น 4 ระดับ คือ

        ระดับที่ 1 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ถูกควบคุมโดยธรรมชาติ
        ระดับที่ 2 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ
        ระดับที่ 3 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ทำลายธรรมชาติ............
        ระดับที่ 4 ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ มนุษย์ถูกทำลายโดยธรรมชาติ

        ความสัมพันธ์ในลักษณะที่มนุษย์ถูกควบคุมโดยธรรมชาติ   ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะเช่นนี้กินเวลายาวนานมาก  นับตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์แบบปัจจุบันได้กำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้เมื่อ ประมาณ 300,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยเริ่มแรกนั้นอยู่ในโลกที่ปราศจากขอบเขต เมื่อถิ่นที่อยู่ของเขาไม่มีอาหาร หรือสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ก็ย้ายไปหาที่อยู่ใหม่  พวกเขาจะแสวงหาที่อยู่ใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ชีวิตสามารถอยู่รอดต่อไปได้ มนุษย์ในสมัยนี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชพันธุ์ต่างๆ ที่หาได้จากธรรมชาติ    เริ่มแรกของการล่าสัตว์ก็ใช้มือเปล่าในการจับสัตว์เล็กๆ และต่อมารู้จักใช้อาวุธง่ายๆ ในการล่าสัตว์ใหญ่  มนุษย์เริ่มแรกยังไม่รู้จักการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์  พวกเขารู้จักทำอาวุธและเครื่องมือต่างๆ ด้วยหิน กระดูก และเขาสัตว์ ใช้หนังสัตว์เป็นเครื่องนุ่งห่ม รู้จักใช้ไฟ  อาศัยอยู่ในถ้ำ  วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในระยะแรกๆ ยังไม่ดีไปกว่าสัตว์อื่นๆ มากนัก มนุษย์ใช้พลังงานของร่างกายทั้งหมดไปในการแสวงหาอาหารมาบริโภค ความปลอดภัยในชีวิตมีน้อย เนื่องจากการที่ต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาอาหาร ทำให้เวลาว่างน้อย    ในระยะเริ่มแรกของการมีมนุษย์  ธรรมชาติยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือของมนุษย์  ทั้งนี้เพราะในขณะนั้นประชากรยังมีจำนวนน้อยและอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ประกอบกับมีวิถีการดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ  ขีดความสามารถในการดัดแปลงธรรมชาติยังมีน้อย
      วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสมัยเริ่มแรกจะตกอยู่ภายใต้ อิทธิพลของธรรมชาติอย่างแท้จริง ปัจจัยในการดำรงชีวิตทุกอย่างได้มาโดยตรงจากธรรมชาติ ความเป็นอยู่ต่างๆ ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติยังมีน้อย   แต่ความใกล้ชิดหรือความผูกพันในธรรมชาติมีมาก พวกเขาให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติอย่างมาก  พวกเขาอยู่กับธรรมชาติในลักษณะทั้งรักและทั้งกลัว   รักเพราะรู้ว่าธรรมชาติมีคุณต่อเขา ให้อาหารและทุกสิ่งทุกอย่างแก่เขา  แต่กลัวเพราะรู้ว่าธรรมชาติอาจทำลายเขาและทุกสิ่งทุกอย่างได้เช่นกัน  เหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อ พิธีกรรม  เพื่อแสดงความขอบคุณ  แสดงความคารวะ ขอโทษ ขออนุญาต แก่พระเป็นเจ้า เทพเจ้า วิญญาณที่เป็นเจ้าของธรรมชาติ
      เมื่อมนุษย์เรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้น  มีความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้น     วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงก้าวเข้ามาสู่ระดับ ที่มนุษย์ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ พวกเขาเรียนรู้และเข้าใจ ธรรมชาติของพืชและสัตว์  ได้ผ่านการลองผิดลองถูกในสิ่งที่พวกเขากินเข้าไป  ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์   การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์คือการที่มนุษย์ รู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว  10,000 - 12,000 ปีมาแล้ว  มนุษย์รู้จักใช้ไฟเผาป่าเพื่อเอาพื้นที่มาทำการเพาะปลูก   รู้จักใช้เครื่องมือในการขุดพรวนดิน เช่น จอบ เสียม    การเพาะปลูกก็เริ่มด้วยการเก็บเอาเมล็ดพืชจากป่าหรือที่อยู่ตามธรรมชาติมา ปลูกในบริเวณที่ต้องการ ต่อมาก็รู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกเอาไว้ใช้ในครั้งต่อๆ ไปได้  การเลี้ยงสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เริ่มต้นโดยการจับสัตว์มาเลี้ยงไว้ในบริเวณใกล้ที่พัก   เมื่อสัตว์ป่าออกลูกออกหลานต่อๆ ไป ก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ การเปลี่ยนสภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์   จากการเก็บของป่าล่าสัตว์ มาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ นับเป็นการวางรากฐานสำคัญของรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ แต่ก่อนนี้ชีวิตมนุษย์มีวงจำกัดอยู่กับจำนวนสัตว์ที่ล่าและจำนวนพืชผลที่ไป เสาะแสวงหามาได้ ในสมัยนี้มนุษย์มีผลิตผลจากพืชและสัตว์ที่ผลิตขึ้นในปริมาณที่มากกว่า   อาหารการกินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น  ความเป็นอยู่ต่างๆ ดีขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น ประชากรมีจำนวนมากขึ้น  มนุษย์ในสมัยนี้มีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้มีเวลาคิดประดิษฐ์สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตมากขึ้น มีการทำเครื่องปั้นดินเผา รู้จักใช้โลหะทำเครื่องมือในการเกษตรกรรม รู้จักทอผ้า รู้จักปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย บริเวณใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีมีน้ำใช้ตลอดปี มนุษย์ก็จะสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านและอยู่แบบถาวร   บางบริเวณที่มีกิจกรรมมีหน้าที่ซับซ้อนขึ้นก็จะกลายเป็นเมือง
การที่มนุษย์เริ่มเอาชนะธรรมชาติ เริ่มรู้จักดัดแปลงธรรมชาติมากขึ้น   มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิมให้เป็นสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การทำลายป่าไม้เพื่อนำมาทำพื้นที่เพาะปลูก ทำให้พืชพันธุ์ธรรมชาติเดิมถูกทำลายและบางชนิดสูญพันธุ์   สัตว์ป่าได้รับอันตราย ไร้ที่อยู่ ขาดแคลนอาหาร และบางชนิดก็สูญพันธุ์ไปในที่สุด  และยังส่งผลไปสู่ธรรมชาติส่วนอื่นๆ เช่น ดินเกิดการชะล้างพังทลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  โรคและแมลงบางชนิดระบาด รบกวนพืชผลทางการเกษตร  ภาวะอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดอุทกภัย แต่ความรุนแรงในการทำลายธรรมชาติในระยะนี้ยังมีไม่มากเท่ากับในระยะต่อมา ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้นจำนวนประชากรยังมีจำนวนน้อยกว่า เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก็ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ธรรมชาติยังมีโอกาสฟื้นตัวและปรับตัวให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้
      ด้วยพลังความคิดที่มีอย่างมากมาย มนุษย์สามารถพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นมาตามลำดับ    จากเครื่องมือแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มาเป็นเครื่องมือชั้นสูงที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง   มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวิทยาการมากขึ้นมาเป็นลำดับ   ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ความลี้ลับต่างๆ ในธรรมชาติถูกเปิดเผยมากขึ้น เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความรู้ความคิดใหม่ ๆ แก่มนุษย์โดยทั่วไป ความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่เปรียบเสมือนดาบสองคม  ด้านหนึ่งจะช่วยทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยการดัดแปลงธรรมชาติรอบๆ ตัวให้เป็นประโยชน์กับตนเอง   แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมหรือสูญสิ้น จนไม่เหลือประโยชน์ใดๆ ให้แก่มนุษย์เลย วิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ได้ก้าวมาถึงระดับที่มนุษย์ทำลายธรรมชาติอย่างแท้จริง เมื่อตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการนำเครื่องจักรมาแทนเครื่องมือที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เครื่องจักรไอน้ำที่เกิดขึ้นครั้งแรกนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ที่รู้จักวิธีการเก็บกัก พลังงานไว้ เพื่อใช้หมุนหรือเดินเครื่องจักร เป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพลังงานจากลม น้ำ มนุษย์ และสัตว์ ที่เคยใช้กันมาแต่เดิม  มนุษย์ในสมัยนี้รู้จักการนำเอาพลังงานเคมีที่เก็บสะสมไว้ในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมาใช้ รู้จักการนำแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ประโยชน์  สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีมากขึ้น  อายุขัยของมนุษย์ยาวนานขึ้น  จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การแพทย์การสาธารณสุขที่ดีขึ้นทำให้อัตราการตายลดน้อยลง    ในระยะต้นของการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมนั้น   โลกมีประชากรประมาณ 700 กว่าล้านคน    และหลังจากที่ได้พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมาประมาณ 200 ปี ผู้คนก็เพิ่มจำนวนเป็น 3,000 กว่าล้านคน ต่อจากนั้นอีกประมาณ 40 ปีต่อมา คือในปัจจุบัน โลกมีประชากรประมาณ 6,000 กว่าล้านคน
      จากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว   ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรง การเพิ่มของประชากรที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตมีอัตรา สูงตามไปด้วย  ประกอบกับการบริโภคนั้นมิได้เป็นไปเพื่อสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการ ดำรงชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว การบริโภคในปัจจุบันนั้นมีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือย  ไม่ประหยัด บริโภคเกินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามแรงกระตุ้นของวัฒนธรรมการบริโภคแบบทุนนิยม ซึ่งขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก การแข่งขันกันทางการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้ บริโภค    นำไปสู่การล้างผลาญทรัพยากร ธรรมชาติอย่างมากมาย จนยากที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นใหม่ได้ทัน ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างแม้จะมีปริมาณมากมายเหลือเฟือ ใช้ไม่มีวันหมด แต่ก็สามารถเสื่อมโทรมลงได้ หากมนุษย์ใช้อย่างไม่ถูกวิธี ใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติมาจนถึงระดับหนึ่งคือระดับที่ธรรมชาติไม่สามารถ ปรับสมดุลในตัวเองได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ไปไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่  หรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ทันความต้องการของมนุษย์  อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่เสื่อมโทรมลง หมดสภาพที่จะใช้ประโยชน์ ก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงได้เข้าสู่ระดับที่มนุษย์ถูกทำลายโดยธรรมชาติ
      ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าความสามารถของโลกในการรองรับมนุษย์และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ถูกบั่นทอนลงไปอย่างมากมาย   นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน โลกต้องสูญเสียป่าไม้ไปถึง 6 ล้านตารางกิโลเมตร การตกตะกอนเนื่องจากหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลายตามลุ่มน้ำสำคัญๆ ของโลกเพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว และในลุ่มน้ำขนาดเล็กลงไปเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัว กิจกรรมการผลิตของมนุษย์ได้เพิ่มก๊าซมีเทนในบรรยากาศขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวร้อยละ 27   และทำลายก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสเตรโตสเฟียร์ลง มนุษย์ได้ทิ้งสารพิษ สารเคมีต่างๆ เข้าสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
      การทำลายป่าไม้อย่างรุนแรงของมนุษย์ ได้ทำลายความสมดุลในระบบนิเวศ ทำให้สัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย  เป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าดินอย่างมาก เพิ่มความรุนแรงของภัยธรรมชาติ   อันได้แก่ภัยจากความแห้งแล้ง จากอุทกภัย บั่นทอนความอุดมสมบูรณ์ของดินลง  อีกทั้งเกิดปัญหาขาดแคลนไม้เพื่อใช้สอย   เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย  เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงผลที่มนุษย์เราได้รับจากการทำลาย ธรรมชาติที่กระทำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน
       เหตุการณ์หนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์อย่างดีของผลที่ได้รับ จากการตัดไม้ทำลายป่า   คือเหตุการณ์ในวันที่  19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531       ได้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช   เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลบ่าพาซุงลงมาพังบ้านเรือนของประชาชน ค่าเสียหายประมาณ 6 พันล้านบาท   สาเหตุสำคัญเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกยางพาราที่รากไม่ลึก เมื่อฝนตกลงมาหน้าดินถูกชะล้างไหลเป็นโคลน พัดพาสิ่งต่างๆ ไหลลงมาด้วยพลังมหาศาล จึงเกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในบริเวณนั้น 
      ปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรกรรม และอื่นๆ อย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ในปีนี้รัฐบาลได้ประกาศงดจ่ายน้ำให้เกษตรกรทำนาปรัง และประกาศให้เกษตรกรลดการทำนาปรังให้มากที่สุด  ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   แต่ในปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยกลับประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในภาคกลาง
ทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงได้รับความเดือดร้อน เป็นอันมาก  สร้างความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศชาติ


ในปี พ.ศ.2544 ภัยพิบัติครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกที่บ้านน้ำก้อ  อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวคือได้มีกระแสน้ำป่าจำนวนมากมายมหาศาล รวมทั้งซากต้นไม้และโคลน ไหลทะลักลงมาจากเทือกเขาเข้าทำลายทรัพย์สินและชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน สาเหตุเกิดจากนายทุนและชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าบนเทือกเขาสูง ใกล้หมู่บ้าน เพื่อทำไร่ข้าวโพดและไร่ขิง เมื่อฝนตกหนัก จึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากการทำลายสมดุลแห่ง ธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง


ภาพที่ 1.3 สภาพพื้นที่ของบ้านน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2544

       จากการศึกษาของนัก วิทยาศาสตร์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก    พบว่าหลังปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลมและฝน  การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบไปยังการผลิตอาหาร พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้   ระบบนิเวศหลายๆ บริเวณ หลายท้องที่ต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งและคลื่นความร้อนอันยืดเยื้อยาวนาน    ในปี พ.ศ. 2538  สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาความร้อนที่สูงมากผิดปกติในช่วงฤดูร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่นครซิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 กว่าคน  จากยอดผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนผิดปกติทั้งหมด 600 กว่าคน
คำอธิบายที่ดีที่สุดของปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็คือการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจก (green house gases) ที่เกิดจากกิจกรรมในการดำรงชีพของมนุษย์      ก๊าซดังกล่าวที่สำคัญคือคาร์บอนไดออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน และมีเทน   ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกระจกที่มองไม่เห็นแผ่ปกคลุมโลกอยู่  มันปล่อยให้แสงแดดส่องผ่านลงมาได้พร้อมกับความร้อน   แต่จะเก็บความร้อนที่เกิดขึ้นใกล้ผิวโลกเอาไว้จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน  การลดปริมาณก๊าซดังกล่าวสามารถกระทำได้หลายวิธี ดังเช่นลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ถ่านหิน  ลดการเผาป่า ลดการทำลายป่าไม้ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น
    ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในหลายๆ ส่วนของโลก รวมทั้งประเทศไทย ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดถึงผลของการทำลายธรรมชาติของมนุษย์   โดยทั่วไปมนุษย์มักมองเห็นว่าการเร่งรัดพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรม  และด้านเศรษฐกิจ  เป็นการนำสิ่งที่ดีมาสู่มวลมนุษย์     ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการมองเพียงด้านเดียว แท้ที่จริงแล้วการพัฒนาอย่างไร้ขอบเขตอย่างไม่มีขีดจำกัด     และไม่คำนึงถึงสมดุลของธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาให้กับหมู่มวลมนุษย์เอง  ยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด ปัญหาต่างๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
      เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ มนุษย์จะต้องเปลี่ยนวิถีทางการดำเนินชีวิตมาสู่การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ในการเริ่มต้นดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนนั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจและยอมรับพันธกรณีในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ สังคมชีวิตอันยิ่งใหญ่ มนุษย์จะต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในผลของการกระทำและการตัดสินใจใน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมรุ่นต่อๆ ไป การพัฒนาของมนุษย์จะต้องไม่กระทบกระเทือนหรือทำลายความเป็นเอกภาพของ ธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ตนก่อให้เกิดแก่ธรรมชาติ มนุษย์ต้องอนุรักษ์ความหลากหลายของธรรมชาติ ความหลากหลายในธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นสิ่งที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น